GDP ญี่ปุ่นต่ำสุด นับตั้งแต่สงครามโลก ธุรกิจชะลอลงทุนเครื่องจักร

GDP ญี่ปุ่นต่ำสุด นับตั้งแต่สงครามโลก ธุรกิจชะลอลงทุนเครื่องจักร

อัปเดตล่าสุด 21 ส.ค. 2563
  • Share :
  • 928 Reads   

หลังการรายงานตัวเลข GDP ประจำไตรมาสที่ 2 ปี 2020 ของรัฐบาลญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม ที่ผ่านมา ได้ตอกย้ำความกังวลต่อภาวะหดตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรง ด้วยญี่ปุนมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบในวงกว้าง รวมถึงประเทศไทยเองซึ่งพึ่งพาการลงทุนและมีการเชื่อมต่อกับธุรกิจญี่ปุ่นอย่างมาก

สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นแถลงตัวเลข GDP ประจำไตรมาสที่ 2 ปี 2020 ลดลง 27.8% จากช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว และลดลง 7.8% จากไตรมาสแรก นับซึ่งเป็นการหดตัวรายไตรมาสที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1955 ซึ่งแม้จะมีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่หากมีการระบาดระลอกที่ 2 เกิดขึ้น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจก็เป็นไปได้ยากยิ่งขึ้นและอาจจะแย่ลงกว่าเดิม

โดยครั้งล่าสุดที่ GDP ญี่ปุ่นถดถอยรุนแรง คือ การล้มละลายของเลห์แมนบราเธอร์ส (Lehman Brothers) ในไตรมาสแรกปี 2009 ตัวเลข GDP ญี่ปุนลดลง 17.8% จากช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นตัวเลขลดลงน้อยกว่าวิกฤตโควิด-19 ในครั้งนี้

การประกาศภาวะฉุกเฉินของรัฐบาลทำให้การบริโภคในประเทศลดลงเป็นอย่างมาก โดยการบริโภคภาคเอกชนซึ่งมีสัดส่วนมากกว่าครึ่งของ GDP ลดลงถึง 8.2% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ส่วนภาคการท่องเที่ยวและการทานอาหารนอกบ้านลดลงต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 1980 ซึ่งเมื่อผนวกเข้ากับการส่งออกยานยนต์ และการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลงถึง 18.5% ทำให้ GDP ในไตรมาสนี้ลดลงเป็นอย่างมาก และส่งผลให้เกิดการชะลอการลงทุนในหลายภาคส่วนทั่วประเทศอีกด้วย โดยภาคที่ความต้องการลดลงรุนแรงได้แก่อุตสาหกรรมยานยนต์, อุตสาหกรรมบริการ, และอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม

ส่วนการลงทุนเครื่องจักรนั้น ความต้องการที่ลดลงส่งผลให้เกิดการชะลอตัวโครงการต่าง ๆ จำนวนมาก เหตุจากความผันผวนของสถานการณ์ที่ยังไม่แน่นอน ทำให้หลายธุรกิจตัดสินใจเลื่อนหรือยกเลิกการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งในไตรมาสสองนี้มีการลงทุนในหมวดเครื่องจักร เครื่องจักรกล และอุปกรณ์ในภาคอุตสาหกรรม ลดลง 1.5% ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 2 ไตรมาส อย่างไรก็ตาม การลงทุนด้าน Digitalization กลับเพิ่มขึ้นสวนทางจากภาพรวม

ในด้านการส่งออก พบว่าในไตรมาสที่ผ่านมามีความต้องการผลิตภัณฑ์ญี่ปุ่นลดลงในภาพรวม โดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเช่นสหรัฐอเมริกา ซึ่งอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบรุนแรงคือยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการนำเข้าสินค้าญี่ปุ่นในจีนกลับเพิ่มขึ้น สืบเนื่องจากการกลับมาเดินสายการผลิต

อย่างไรก็ตาม มาตรการสนับสนุนจากภาครัฐประสบผลสำเร็จอย่างเด่นชัด โดยในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา มีบริษัทญี่ปุ่นล้มละลายอยู่ที่ 789 บริษัท ซึ่งเป็นตัวเลขที่น้อยกว่าในเดือนมิถุนายน 1.6% และในจำนวนนี้ มีเพียง 89 บริษัทเท่านั้นที่แจ้งเหตุผลการล้มละลายว่าเป็นผลจากโควิด-19 

สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นคาดการณ์ว่า การประกาศสิ้นสุดภาวะฉุกเฉินจะช่วยให้ GDP เริ่มฟื้นตัวในช่วงเดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป ในขณะที่ภาคเอกชนหลายรายคาดการณ์ว่า GDP จะเติบโต 10% ในไตรมาสที่ 3 นี้ ซึ่งได้เริ่มปรากฏสัญญาณบวกตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดย Japan Center for Economic Research ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจญี่ปุ่นซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจาก 340 หน่วยงานในประเทศ รายงานว่าในเดือนมิถุนายน GDP ประเทศญี่ปุ่นมีการเติบโต 2.7% จากเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นผลจากการลงทุนเครื่องจักร การบริโภค และอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น 2.8%, 2.7%, และ 0.9% ตามลำดับ ในขณะที่การนำเข้าและการส่งออกรวมแล้วคิดเป็น GDP ที่เพิ่มขึ้น 0.6% 

สำนักวิเคราะห์บางส่วน เช่น Meijiyasuda Total Research Institute คาดการณ์ว่าอาจต้องรอถึงไตรมาสที่ 2 ปี 2024 จึงจะฟื้นตัวเท่าช่วงพีคในปี 2019 ส่วน Daiwa Institute of Research แสดงความเห็นว่าแม้ปัจจุบันจะมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่ GDP จะลดลงอีกในอนาคต