ผลกระทบโอไมครอน

ผลกระทบโอไมครอน ฉุดเศรษฐกิจโลกชะลอตัว

อัปเดตล่าสุด 13 ม.ค. 2565
  • Share :
  • 2,116 Reads   

เปิดต้นปี 2022 ด้วยการระบาดโอไมครอน ล่าสุดธนาคารโลกเผยผลกระทบของโอไมครอนจะฉุดให้เศรษฐกิจโลกปีนี้อยู่ในภาวะโตถดถอย เศรษฐกิจสองประเทศใหญ่สหรัฐฯ และจีนชะลอตัว แต่เอเชียตะวันออกและอาเซียนรวมไทยโตสวนทาง

Advertisement

ในรายงาน Global Economic Prospects ฉบับล่าสุดของธนาคารโลก (World Bank) เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2022 ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจโลกในปีนี้เป็น 4.1% หลังจากฟื้นตัว 5.5% ในปีที่แล้ว ซึ่งเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่สุดในรอบ 80 ปี และคาดว่าจะชะลอตัวลงอีกจนเติบโตเพียง 3.2% ในปี 2023

แม้โอไมครอนจะมีความรุนแรงน้อยกว่าโควิดสายพันธุ์ก่อนหน้า แต่การระบาดที่รวดเร็วอาจส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณสุข กระตุ้นให้รัฐบาลประกาศมาตรการล็อคดาวน์ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจอีกครั้ง

ยกตัวอย่างเช่นในสหรัฐอเมริกา พบว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมามียอดผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่รวมแล้วมากกว่า 750,000 รายภาย (ข้อมูลวันที่ 10 มกราคม 2022) ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากกว่าสถิติครั้งก่อนหน้าถึง 3 เท่า ซึ่งข้อมูลจาก University of Oxford เปิดเผยว่า นอกจากสหรัฐฯ แล้วยังมีฝรั่งเศส, อิตาลี, เนเธอร์แลนด์, แคนาดา, และประเทศอื่น ๆ ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน

ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า การระบาดของโอไมครอนในครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกแม้จะมีวัคซีนแล้วก็ตาม โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศรายได้ต่ำและกลุ่มตลาดเกิดใหม่ซึ่งมีการกระจายวัคซีนน้อยกว่าประเทศพัฒนาแล้ว

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าประเทศใหญ่จะไม่ได้รับผลกระทบ โดยธนาคารโลกคาดการณ์ว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะชะลอตัวจาก 5.6% เหลือ 3.7% ส่วนจีนจะชะลอตัวจาก 8% เหลือ 5.1% ในปีนี้

ขณะที่กลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกและอาเซียนอาจมีการเติบโตสวนทางในปีนี้ เช่น ญี่ปุ่น, อินโดนีเซีย, ไทย, มาเลเซีย, และเวียดนาม

ในปี 2021 เศรษฐกิจโลกมีการเติบโต 5.5% ซึ่งสูงกว่าตัวเลข 4% ที่คาดการณ์ไว้ แต่การระบาดของโควิดระลอกใหม่นำมาซึ่งความเสี่ยงที่มากขึ้น ทั้งซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมการผลิตและวิกฤตเงินเฟ้อ ทำให้เกิดการหยุดชะงักชั่วคราวของโรงงานและท่าเรือที่มีการระบาด ชิปเซมิคอนดักเตอร์และตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนอย่างฉับพลัน ซึ่งประเมินว่าจะส่งผลให้การค้าระหว่างประเทศลดลง 8.4% และการผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลง 6.9% เมื่อเทียบกับสภาวะปกติ

ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า วิกฤตซัพพลายเชนและการขาดแคลนแรงงานจะค่อย ๆ คลี่คลายในปี 2022 และในช่วงครึ่งหลังของปี อัตราเงินเฟ้อและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ก็ค่อย ๆ ลดลงเช่นกัน ความต้องการสินค้าคงทนซึ่งเป็นแรงผลักดันให้เกิดความตึงเครียดของซัพพลายเชนมีแนวโน้มลดลงพร้อมกับเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

 

#ผลกระทบโอไมครอน #เศรษฐกิจโลก #ธนาคารโลก #วิกฤตซัพพลายเชน #ชิปขาดตลาด #ปิดท่าเรือ #ปิดโรงงาน #การค้าระหว่างประเทศ #อุตสาหกรรมการผลิต

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH