การบริโภค…ตัวแปรสำคัญ ในการค้ำจุนเศรษฐกิจ

อัปเดตล่าสุด 16 ม.ค. 2562
  • Share :
  • 304 Reads   

คอลัมน์เช้านี้ที่ซอยอารีย์  โดย พงศ์นคร โภชากรณ์


แม้ว่า “การส่งออกสินค้าและบริการ” จะเป็นเครื่องยนต์ใหญ่สุดของเศรษฐกิจไทยด้วยสัดส่วนร้อยละ 77 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ แต่ท่ามกลางปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน การหดตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวจีน ทำให้เศรษฐกิจไทยตกอยู่ในสถานการณ์ที่ “เร่งไม่ขึ้น” เพราะเป็นปัจจัยที่รัฐบาลควบคุมไม่ได้ โดยไตรมาส 1, 2 และ 3 มีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 4.9 ลงมาร้อยละ 4.6 และลงมาเหลือร้อยละ 3.3 ต่อปีตามลำดับ


ความหวังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจึงตกอยู่ที่ “การบริโภค” ซึ่งเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของเศรษฐกิจไทย ด้วยสัดส่วนร้อยละ 51 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ที่สำคัญเป็นเครื่องยนต์ที่รัฐบาลจัดมาตรการต่าง ๆ อัดลงไปให้ถึงประชาชนได้โดยตรงทุกระดับผ่านมาตรการภาษี มาตรการสินเชื่อ หรือแม้กระทั่งผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ


ในช่วงที่การส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวทรุดตัวลงในเวลาไล่เลี่ยกัน ฉุดให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง แต่การบริโภคกลับมีแนวโน้มขยายตัวสวนทางขึ้นไป โดยไตรมาส 1, 2 และ 3 ขยายตัวจากร้อยละ 3.7 เป็นร้อยละ 4.5 และเร่งขึ้นเป็นร้อยละ 5.0 ต่อปีตามลำดับ ดังนั้น การบริโภคจึงทำหน้าที่ “ประคับประคอง” เศรษฐกิจอย่างเข้มแข็ง ลองนึกภาพดูนะครับ ถ้าการบริโภคไม่ขยายตัวสูงในระดับนี้ สงสัยเศรษฐกิจอาจจะทรุดตัวลงไปยืนแถว ๆ ร้อยละ 3.0 ก็เป็นได้


ช่วงเวลาที่น่าติดตามมากที่สุด คือ ไตรมาส 4 หากการบริโภคยังขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง ก็มั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่าเศรษฐกิจจะกลับมาขยายตัวได้ในอัตราเร่ง หรืออย่างเลวร้ายที่สุดก็คงไม่ทรุดตัวเข้าขั้นโคม่าลงไปต่ำกว่าไตรมาส 3


เครื่องชี้ที่สะท้อนการจับจ่ายใช้สอยได้ดี คือ “ยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม” ในช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมา ยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเร่งตัวขึ้นต่อเนื่องจากร้อยละ 4.1 เป็นร้อยละ 6.0 และเร่งขึ้นเป็นร้อยละ 6.6 ต่อปี (เป็นแนวโน้มเดียวกับการบริโภค) ตัวนี้เองที่ดันให้การบริโภคขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และที่น่าสนใจ คือ 2 เดือนแรกของไตรมาส 4 (ตุลาคมและพฤศจิกายน) ยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มยังคงเร่งตัวมากขึ้นไปอีกเป็นร้อยละ 8.4 ต่อปี ซึ่งอนุมานได้ว่าการบริโภคในไตรมาส 4 น่าจะดีขึ้นกว่าไตรมาส 3 อีก


ปัจจัยที่สนับสนุนการเพิ่มขึ้นของการบริโภคต่อเนื่องมาถึงช่วงปลายปี คือ มาตรการภาษีสนับสนุนการท่องเที่ยวจังหวัดรอง มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยเพิ่มเติม มาตรการช็อปช่วยชาติในสินค้ายางรถยนต์ หนังสือ และสินค้าโอท็อป มาตรการต่าง ๆ เหล่านี้จะช่วยให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นทั้งระดับบนและฐานราก ฉะนั้น การบริโภคจึงเป็นตัวแปรที่สำคัญมากที่คอย “ค้ำจุน” เศรษฐกิจในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2561

สวัสดีปีใหม่ 2562 ครับ