ไทยติดร่างแหการค้าโลกป่วน ส่งออกระส่ำหยุดรับออเดอร์

อัปเดตล่าสุด 26 มี.ค. 2561
  • Share :
  • 441 Reads   

สงครามการค้า "สหรัฐ-จีน" เอฟเฟ็กต์ทั่วโลก พาณิชย์ตั้งรับกระทบเป้าส่งออก เผยไทยเจอเต็ม ๆ มูลค่าส่งออกไปจีน 11.6% "ศุภวุฒิ สายเชื้อ" ชี้สถานการณ์การค้าโลกป่วน ผู้ส่งออกระส่ำหวั่นบาทแข็งซ้ำเติมผู้ประกอบการ จับตาหยุดรับออร์เดอร์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากสหรัฐได้ประกาศเรียกเก็บภาษีนำเข้าเหล็กในอัตรา 25% และอะลูมิเนียมในอัตรา 10% โดยยกเว้นนโยบายนี้เป็นพิเศษให้กับแคนาดาและเม็กซิโก ล่าสุด ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ลงนามในคำสั่งเพิ่มอัตราภาษีศุลกากรกว่า 1,300 รายการ ซึ่งมีเป้าหมายจะเก็บภาษีเพิ่มกว่า 50,000 ล้านดอลลาร์ โดยให้เหตุผลว่าเป็นผลจากการที่จีนละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาอเมริกา ขณะที่ประธานาธิบดีทรัมป์กล่าวว่า การลงนามครั้งนี้เป็นเพียงมาตรการแรกของอีกหลายมาตรการที่จะตามมา หลังจากสหรัฐขาดดุลการค้าจีนอย่างมาก 

ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ของจีนได้ประกาศมาตรการตอบโต้ทันทีโดยระบุว่า หากสหรัฐและจีนไม่สามารถตกลงกันได้ในประเด็นอ่อนไหวนี้ ทางการจีนจำเป็นต้องดำเนินการตอบโต้สหรัฐด้วยการตั้งกำแพงภาษีเช่นกัน โดยมีเป้าหมายพิจารณาสินค้า 128 รายการของสหรัฐ อาทิ เนื้อหมู ไวน์ และท่อเหล็ก เป้าหมายมูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์

แถลงการณ์ของกระทรวงพาณิชย์จีนระบุว่า "ขั้นตอนต่อมาที่ทางการจีนกำลังพิจารณา คือ การนำเรื่องนี้ยื่นฟ้องต่อองค์การการค้าโลก (WHO) เพื่อร้องขอการพิจารณากฎการค้าโลกให้มีเสถียรภาพยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม จีนยังหวังว่าจะหารือกับสหรัฐและร่วมกันหาข้อสรุปได้"

 

นำเข้า-ส่งออกชะงัก

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า กรณีที่สหรัฐประกาศเก็บภาษีสินค้าจากจีน 25% ในสินค้า 1,300 รายการนั้น ทำให้เกิดความปั่นป่วนทั่วโลก ทั้งตลาดเงิน ตลาดทุน และเศรษฐกิจทั่วโลก ดังนั้นระหว่างที่รอความชัดเจนว่า ทรัมป์แค่ขู่ หรือจะเก็บภาษีจริง ก็อาจทำให้ตลาดเกิดชะงักงัน โดยเฉพาะตลาดส่งออก และนำเข้าในประเทศต่าง ๆ เพื่อรอความชัดเจน

ทั้งนี้ อาจไม่ใช่แค่สินค้าจากจีน 1,300 รายการ หรือมูลค่าภาษีราว 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพราะล่าสุดทรัมป์อยู่ระหว่างรับฟังความเห็นจากกระทรวงการคลัง และบริษัทในสหรัฐเพิ่มเติม ทำให้อาจมีสินค้าอื่น ๆ ที่เข้าข่ายเก็บภาษีเพิ่มขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อวงกว้างและเกิดความเสียหายมากกว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ประเทศต่าง ๆ ที่มีแผนส่งออกไปจีน หรือเกี่ยวเนื่องจากจีน อาจต้องมีการทบทวนแผนการส่งออก-นำเข้าในระยะถัดไปได้

"ปัญหาเวลาประกาศแบบนี้มักมีผลกระทบต่อตลาดทันที ทำให้ประเทศต่าง ๆ กลับไปคาดการณ์ว่า สินค้าอะไรที่อาจถูกกีดกันทางการค้า ทำให้อาจไม่สั่งสินค้าจนกว่าจะมีความชัดเจน เช่น ผู้นำเข้าก็อาจหยุดสั่งสินค้า เพราะไม่ต้องการรับความเสี่ยงจากต้นทุนภาษีก็อาจเพิ่มขึ้น"

 

ไทยรับผลกระทบเต็ม ๆ

นายศุภวุฒิกล่าวว่า ประเทศไทยก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะได้รับผลกระทบครั้งนี้ เพราะไทยมีการส่งออกไปจีนอันดับหนึ่งถึง 11% เช่น สินค้าเกษตร และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อีกทั้งไทยยังเป็นอันดับ 6 ของโลกที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของโลก ดังนั้นไทยจึงได้รับกระทบทางอ้อมจากนโยบายนี้แน่นอน

"ที่น่ากลัวคือ ไม่ใช่ว่าสหรัฐ จีนฆ่ากันสองประเทศแล้วเราจะไม่เกี่ยว ทุกอย่างเป็นห่วงโซ่กันหมด ไทยโดนผลกระทบแน่นอน เพราะจีนมีการนำเข้าสินค้าจากหลายประเทศเพื่อไปประกอบจากจีน ก็เหมือนเราโดนน้ำท่วม ญี่ปุ่นต้องหยุดการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ เพราะส่วนหนึ่งมาจากไทย ดังนั้นจึงไม่ใช่แค่ส่งออกที่จะได้รับผลกระทบ แต่นำเข้าก็กระทบเช่นกัน เพราะไทยนำเข้าจากประเทศต่าง ๆ คิดเป็นการนำเข้าราว 39% ที่นำมาประกอบเอง"

ดังนั้น เชื่อว่าความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นในตลาดเงิน ตลาดหุ้น และเศรษฐกิจจะยังอยู่กับไทยไปอีกระยะ จนกว่าจะมีความชัดเจน และคาดว่าจะเริ่มเห็นความชัดเจนในช่วงไตรมาส 2 ถึงผลกระทบต่อส่งออก นำเข้า และลามสู่เศรษฐกิจไทยระดับใด จากเดิมที่คาดการณ์ส่งออกปีนี้จะโต 4-5% และเศรษฐกิจไทยโต 3.7% เป้าหมายเหล่านี้ก็อาจมีการปรับเปลี่ยนได้

นายศุภวุฒิกล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ยังไม่ชัดว่าจะเกิดสงครามทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐหรือไม่ เพราะจีนก็ตอบโต้สหรัฐ โดยการเก็บภาษีนำเข้าจากสหรัฐถึง 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมีการเรียกผู้ส่งออกสินค้าเกษตรที่ส่งออกไปสหรัฐ มาเตรียมรับมือกับนโยบายกีดกันทางการภาษีของสหรัฐแล้วตั้งแต่เดือน ก.พ.ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า จีนก็มีการเตรียมรับมือหากสหรัฐออกนโยบายรุนแรง แต่ขณะเดียวกัน จีนก็ไม่อยากให้เหตุการณ์บานปลายก็อาจมีการเจรจากับสหรัฐอีกรอบ

 

พาณิชย์ทบทวนเป้าส่งออกจีน

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า พาณิชย์ยังคงเป้าส่งออกปีนี้ขยายตัว 8% แต่อาจมีการทบทวนเป้ารายประเทศ โดยเฉพาะจีน เพราะการใช้มาตรการการค้ากับจีนอาจส่งผลกระทบต่อไทยทางอ้อม ทำให้เงินบาทแข็งค่า รวมถึงผลกระทบสินค้าบางรายการที่ส่งออกไปจีน โดยเฉพาะกลุ่มวัตถุดิบ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ คอมพิวเตอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าก็อาจกระทบบ้าง จำเป็นต้องหาตลาดใหม่รองรับการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้ อีกทั้งจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นมีผลให้การค้าโลกมีความไม่แน่นอน และอาจทำให้ผู้ค้าหันไปซื้อสินค้าประเภททองคำมากขึ้นจากความกังวล ค่าเงินอาจแข็งค่าขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามการเจรจาระหว่างจีน-สหรัฐ หากเจรจาตกลงได้จะส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น ประเทศไทยก็ต้องหามาตรการรองรับ อาทิ มองหาตลาดใหม่ หรือขยายตลาดเดิมที่มีอยู่ แต่หากเจรจาไม่สำเร็จ จีนเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้ององค์การการค้าโลก (WTO) ไทยจะพิจารณาว่าจะเข้าร่วมหรือไม่ หากเข้าร่วมจะส่งผลกระทบสินค้าใด

กระทรวงพาณิชย์ได้รวบรวมข้อมูลสำหรับชี้แจงสหรัฐ หลังจากสหรัฐมีท่าทีจะใช้มาตรการทางการค้ากับสินค้าไทยหลายรายการ เช่น เหล็ก และอะลูมิเนียม แต่ก็ได้เปิดโอกาสให้แต่ละประเทศผู้ส่งออกชี้แจงข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณายกเว้นการขึ้นภาษี

ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยส่งออกไปตลาดจีน มีส่วนแบ่งตลาด 11.6% ของการส่งออกรวม โดยมูลค่าการส่งออก 2 เดือนแรก เท่ากับ 4,711 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 6.4% สินค้าสำคัญ ได้แก่ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์ มันสำปะหลัง เป็นต้น ขณะที่สหรัฐเป็นตลาดส่งออกหลัก มีส่วนแบ่งตลาด 10.4% มูลค่าการส่งออกช่วง 2 เดือนแรก เท่ากับ 4,203 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 8.2% สินค้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ ผลิตภัณฑ์ยาง อัญมณี อาหารทะเลกระป๋อง และรถยนต์และส่วนประกอบ เป็นต้น

 

การค้าโลกซึม-บาทแข็ง

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในกรณีนี้ผลกระทบต่อการส่งออกไทยที่น่าห่วงมากที่สุด คือ ปัญหาความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน มีโอกาสเห็นค่าบาทหลุดกรอบไปสู่ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ (ปัจจุบัน 31.182 บาทต่อดอลลาร์) ซึ่งส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบในประเทศสูง โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรและอาหาร ซึ่งจะเห็นว่าการส่งออกในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 10% แต่ในรูปเงินบาทหดตัว 0.6% และผลสะท้อนที่กลับสู่ภาคการผลิตและเศรษฐกิจในประเทศจะเห็นชัดเจนในช่วงปลายไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป ว่าจะกระทบมากเพียงใด ต้องจับตากลุ่มเอสเอ็มอีและฐานราก ซึ่งในวันที่ 26 เมษายนนี้จะมีการประชุมคณะกรรมการประชารัฐ D4 เพื่อประเมินทิศทางการส่งออกว่าจะได้รับผลกระทบจากการใช้มาตรการทางการค้าของสหรัฐมากน้อยเพียงใด

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย เปิดเผยว่า ส่งผลกระทบต่อการค้าโลกและไทยอย่างแน่นอน เพราะเมื่อช้างสารชนกัน หญ้าแพรกก็แหลกลาญ ธุรกิจอาหารแช่เยือกแข็ง กระทบในแง่ที่อัตราแลกเปลี่ยนมีโอกาสแข็งค่าไปที่ระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ           

 

หวั่นหยุดรับคำสั่งซื้อ

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า ไทยได้รับผลกระทบทางอ้อม ในส่วนการส่งออกสินค้ากึ่งวัตถุดิบที่ไปป้อนอุตสาหกรรมของประเทศจีน เพื่อส่งต่อไปยังสหรัฐ อีกด้านคือผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนจากดอลลาร์อ่อนค่าและค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ซึ่งหวังว่าจะแข็งค่ามากสุด 30.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

"หากแข็งค่ากว่านี้จะส่งผลต่อการค้าในตลาดโลก คงต้องเปลี่ยนวิธีทำการค้า เลิกอิงกับเงินดอลลาร์ เพราะผู้ประกอบการเข้าสู่ภาวะขาดทุนเต็มตัวแล้ว โดยเฉพาะสินค้าเกษตรซึ่งใช้วัตถุดิบในประเทศจะได้รับผลกระทบหนักมากที่สุด และจะส่งผลกระทบต่อไปทั้งห่วงโซ่อุปทาน เพราะซื้อวัตถุดิบแพง ก็จะเป็นแรงกดดันทำให้แข่งขันไม่ได้ หากเงินบาทแข็งค่าขึ้นเรื่อย ๆ มีโอกาสจะกระทบต่อตัวเลขการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง เพราะแบกขาดทุนสะสมมาระยะหนึ่ง อาจหยุดการรับคำสั่งซื้อ ถ้าค่าเงินยังแข็งค่าไปเรื่อย ๆ ที่ผ่านมาผมยอมขายสินค้าขาดทุนเพื่อรักษาฐานลูกค้า รักษาตลาดไว้ แต่กินทุนตัวเองไปเรื่อย ๆ จนทุนหมดแล้วก็ไม่ไหว"