ผู้บริโภคเชื่อมั่นต่อเนื่องต.ค.ปรับเพิ่ม 76.7 อานิสงส์นโยบายบัตรสวัสดิการ-ส่งออก คาด ”ช้อปช่วยชาติ” กระตุ้นความเชื่อมั่นพุ่งอีก

อัปเดตล่าสุด 9 พ.ย. 2560
  • Share :
  • 327 Reads   

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนตุลาคม 2560 ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค เพิ่มขึ้นที่ระดับ 76.7 จากเดือนกันยายน 2560 ซึ่งอยู่ที่ 75 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และสูงสุดในรอบ 6 เดือน ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบัน เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 52 จาก 50.5 และดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในอนาคต เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 87.2 จาก 85.5 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 64.1 จากเดือนกันยายน 2560 ซึ่งอยู่ที่ 62.5 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางาน เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 71.4 จาก 69.8 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคต เพิ่มขึ้นอยู่ที่ 94.4 จาก 92.7

นายธนวรรธน์กล่าวว่า ดัชนีที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากนโยบายการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐซึ่งช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ประกอบกับการส่งออกของไทยที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง รวมถึงผู้บริโภคมีความหวังว่าเศรษฐกิจไทยในอนาคตจะปรับตัวดีขึ้นตามการส่งออกและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่จะเกิดในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และการเมืองในประเทศมีความชัดเจนมากขึ้น หลังรัฐบาลประกาศจัดการเลือกตั้ง

“อย่างไรก็ตาม ระดับดัชนียังไม่เข้าสู่ภาวะปกติที่ระดับ 100 สะท้อนประชาชนยังระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ เนื่องจากยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ราคาพืชผลทางการเกษตรทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ทำให้กำลังซื้อทั่วไปในหลายจังหวัดทั่วประเทศขยายตัวในระดับต่ำและไม่คล่องตัว ส่วนผลกระทบจากน้ำท่วมไม่ส่งผลต่อภาพรวมของดัชนีความเชื่อมั่นฯ และการขยายตัวของเศรษฐกิจ จากนี้เชื่อว่าในช่วง 2 เดือนที่เหลือของปีนี้ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จะดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากมาตรการช้อปช่วยชาติและสวัสดิการผู้มีรายได้น้อย”

นายธนวรรธน์กล่าวว่า สำหรับดัชนีความเหมาะสมการซื้อรถยนต์คันใหม่ในปัจจุบันปรับเพิ่มขึ้น อยู่ที่ 77 จาก 73.6 ดัชนีความเหมาะสมในการซื้อบ้านหลังใหม่ในปัจจุบันปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 58 จาก 54.5 ดัชนีความเหมาะสมในการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวในปัจจุบันปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 60.9 จาก 57.5 และดัชนีความเหมาะสมในการลงทุนทำธุรกิจของเอสเอ็มอีในปัจจุบันปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 42 จาก 38.3 ส่วนดัชนีวัดความสุขในการดำรงชีวิตในปัจจุบันปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 78.4 จาก 73.7 ดัชนีภาวะค่าครองชีพในปัจจุบันปรับเพิ่มขึ้นที่ระดับ 67.4 จาก 64.8 ดัชนีความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหายาเสพติดในปัจจุบันปรับเพิ่มขึ้นที่ระดับ 64 จาก 60.9 และดัชนีความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันปรับเพิ่มขึ้นที่ระดับ 87.7 จาก 84.2

นายธนวรรธน์กล่าวว่า ยากที่จะประเมินว่า นโยบายช้อปช่วยชาติจะมีเงินเข้าระบบ 2 หมื่นล้านบาท ตามที่รัฐบาลคาดหวังได้จริงหรือไม่ เพราะรัฐเลือกทำช่วงเดือนพฤศจิกายน ทำให้ไม่มีข้อมูลเปรียบเทียบ จากครั้งก่อนมาตรการช้อปช่วยชาติทำในเดือนธันวาคมซึ่งมีเงินหมุนเวียนเข้าระบบประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท แต่มองว่ามีมาตรการในเดือนพฤศจิกายนจะช่วยให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคเกิดเร็วขึ้นจากปกติช่วงเดือนธันวาคม คาดว่าจะทำให้มีเม็ดเงินใหม่เข้าสู่ระบบประมาณ 1.5-2 หมื่นล้านบาทได้ บวกกับการใช้จ่ายผ่านโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) ที่เริ่มมีการใช้จ่ายอย่างเต็มที่แล้วในเดือนพฤศจิกายนน่าจะมีเม็ดเงินเข้าระบบรวม 2-2.5 หมื่นล้านบาท ช่วยกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ได้ 0.1% โดยปีนี้ศูนย์พยากรณ์ยังคาดว่าจีดีพีขยายตัวที่ 3.9% อย่างไรก็ตาม หอการค้าไทยจะทำการประเมินเศรษฐกิจภาพรวมอีกครั้ง ในวันที่ 19 พฤศจิกายน ในการประชุมสมาชิกหอการค้าทั่วประเทศที่ จ.สุราษฎร์ธานี