แถลงข่าว กกร. ต.ค.63 ฉายภาพเศรษฐกิจไทยปีนี้ GDP หดตัว -9.0% ถึง -7.0% แนะต่ออายุมาตรการต่าง ๆ ช่วยเหลือผู้ประกอบการ

แถลงข่าว กกร. ต.ค.63 ฉายภาพเศรษฐกิจไทยปีนี้ หดตัว -9.0% ถึง -7.0% แนะต่ออายุมาตรการต่าง ๆ ช่วยเหลือผู้ประกอบการ

อัปเดตล่าสุด 7 ต.ค. 2563
  • Share :
  • 398 Reads   

กกร. ฉายภาพเศรษฐกิจไทยปี 2563 ประมาณการ GDP หดตัวในกรอบ -9.0% ถึง -7.0% โดยไตรมาสสุดท้ายนี้ ยังเผชิญความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น แม้จะฟื้นตัวได้ต่อ แต่รัฐยังต้องมีมาตรการสนับสนุนที่ต่อเนื่องและตรงจุด เช่น Reskill-Upskill แรงงาน, มาตรการเร่งด่วนภาคธุรกิจท่องเที่ยว พร้อมแนะต่ออายุมาตรการต่าง ๆ ช่วยเหลือผู้ประกอบการ

การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประจำเดือนตุลาคม 2020 โดย นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทยและประธานสมาคมธนาคารไทย และนายสุพันธ์ุ มงคลสุธี ประธานกรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า 

เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ฟื้นตัวไปพร้อมกับความสำเร็จในการควบคุมโควิด-19 ในประเทศ โดยมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เช่น การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศที่ได้รับการส่งเสริมจากมาตรการของรัฐ เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาสที่ 2 ภายหลังการคลาย lockdown ทั่วโลก ซึ่งสินค้ากลุ่มอาหารและสุขอนามัยที่เป็นที่ต้องการมีการขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจยังต่ำกว่าปกติอยู่มาก เห็นได้จากจำนวนผู้ว่างงานที่ยังไม่ลดลง 

ในช่วงไตรมาสที่ 4 เศรษฐกิจไทยเผชิญความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น โดยปัจจัยต่างประเทศ ได้แก่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทั่วโลกเร่งตัวขึ้นอีกครั้งในเดือนกันยายน กดดันการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในหลายประเทศ เช่น สหรัฐฯ ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน สหราชอาณาจักร รัสเซีย อินเดีย และหลายแห่งในเอเชีย ซึ่งหากลุกลามไปมากจะกระทบธุรกิจส่งออกของไทย รวมถึงความสามารถในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศในระยะต่อไป แม้ว่าจะไม่กระทบกับการเปิดรับแบบเฉพาะกลุ่มที่กำลังจะเริ่มขึ้นก็ตาม ส่วนปัจจัยในประเทศ ได้แก่ การที่มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในวงกว้างทยอยหมดอายุลง

เงินบาทอ่อนค่าจากผลของดอลลาร์ฯ ที่แข็งค่าขึ้นในภาวะที่ตลาดกลับมาอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง โดยกังวลการระบาดของโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงขึ้น รวมถึงแรงกดดันจากปัจจัยการเมืองทั้งฝั่งสหรัฐฯ และยุโรป นอกจากนี้ ความผันผวนเพิ่มขึ้นจากปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองก่อนการเลือกตั้ง ปธน.สหรัฐฯ สำหรับในช่วงที่เหลือของปีค่าเงินบาทยังมีแรงหนุนแข็งค่าจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุล

หากไม่เกิดการระบาดระลอกใหม่ในประเทศไทย หรือสามารถควบคุมโรคให้อยู่ในวงจำกัดได้ ที่ประชุม กกร. มองว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงไตรมาสที่ 4 จะฟื้นตัวได้ต่อไป แต่ยังคงต้องการการสนับสนุนจากมาตรการของรัฐที่ต่อเนื่องและตรงจุด สำหรับทั้งปี 2563 กกร. ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยอาจหดตัวในกรอบ -9.0% ถึง -7.0% ขณะที่ กกร. ปรับประมาณการการส่งออกในปี 2563 หดตัวในกรอบ -10.0% ถึง -8.0% ดีขึ้นจากเดิมที่ -12.0% ถึง -10.0% เนื่องจากการส่งออกในช่วงไตรมาสที่ 3 หดตัวน้อยกว่าที่คาดไว้เดิม ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าอยู่ในกรอบ -1.5% ถึง -1.0%

นอกจากนี้ กกร.ยังได้เสนอให้มีการต่ออายุมาตรการต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ อาทิ มาตรการชะลอการคืนเงินกู้ โดยขอให้ครอบคลุมตามความเหมาะสมของผู้ประกอบการแต่ละประเภท, การขอยืดมาตรการค่าน้ำ ค่าไฟ (รวมถึง minimum change), การลดเก็บภาษีน้ำมันเครื่องบิน และเร่งรัด soft loan ของสายการบิน

มาตรการช่วยสนับสนุนภาครัฐในการ Reskill – Upskill ให้แรงงาน เพื่อตอบโจทย์อนาคตของประเทศไทย โดยเอกชนยินดีให้ความร่วมมือ เช่น Smart Farming, Wellness & Healthcare, Coding Program, Data Analytic, การค้า Online เป็นต้น โดยเป็นหลักสูตรระยะสั้น

มาตรการทางเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน สำหรับภาคธุรกิจท่องเที่ยว อาทิ รักษาการจ้างงานเดิมของสถานประกอบกิจการโรงแรมและธุรกิจท่องเที่ยวทั่วประเทศ, ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขและแนวทางการดำเนินการของโครงการ เราเที่ยวด้วยกัน  , ปรับปรุงขั้นตอนกระบวนการสำหรับการอนุญาตให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทย ตามมาตรการที่รัฐบาลได้อนุมัติออกมาแล้วให้สะดวกขึ้น โดยยังคงเงื่อนไขด้านความปลอดภัย

ข้อเสนอของภาคเอกชนต่อ กรอ. โดย กกร. และสภาธุรกิจตลาดทุนไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือฯ ร่วมกันจัดทำข้อเสนอด้านเศรษฐกิจ โดยนำประเด็นดังกล่าวหารือกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในประเด็นที่สำคัญต่างๆ อาทิ ด้านการค้า การลงทุน, การจ้างงาน, SME, โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เป็นต้น ก่อนจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ซึ่งจะเป็นข้อเสนอที่ช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืน

การค้ำประกันเงินกู้ของ บสย. เพื่อช่วยเหลือ SME โดยทาง กกร. หารือร่วมกับ บสย. ในแนวทางการจัดทำโปรแกรม Add on coverage for Soft Loan Plus โดยขยายระยะเวลากู้เพิ่มจากโครงการ Soft Loan ของ ธปท. ที่มีระยะเวลา 2 ปี ให้ขยายได้เพิ่มขึ้นเป็นไม่เกิน 10 ปี เพื่อช่วยค้ำประกันให้ผู้กู้ ซึ่งทาง บสย.จะมีการหารือร่วมกับธนาคารต่างๆ ในรายละเอียดการดำเนินการ นอกจากนี้ยังมีโครงการค้ำประกันสินเชื่อที่ดำเนินการในปัจจุบัน ได้แก่ บสย. SMEs ไทยชนะ, บสย. SMEs พลิกฟื้นการท่องเที่ยว, บสย. Soft Loan พลัส, Start up & Innobiz และ SMEs เพิ่มพูน ซึ่งจะช่วยให้ SME สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น

การปฏิรูปกฎหมาย กกร. ได้มีการเชิญ นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา มาบรรยายพิเศษเพื่อให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องของกฎหมายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับภาคเอกชน โดยเฉพาะ พ.ร.บ. ว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. .... ซึ่งจะช่วยให้เกิดความเป็นธรรมทางสังคม ลดการรับโทษทางอาญาในกรณีทำผิดเล็กๆ น้อยๆ ร่วมทั้งกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาคเอกชน ซึ่ง กกร. ได้ให้ความสำคัญกับการปฎิรูปกฎหมาย และการออกกฎหมายเพื่อให้เกิดแนวทางการใช้กฎหมาย เพื่อให้มีชีวิตที่ดีขึ้น (Better Regulation for Better Life)