การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไทยในเดือนสิงหาคม 2561

อัปเดตล่าสุด 22 ก.ย. 2561
  • Share :
  • 1,772 Reads   

การส่งออกของไทยในเดือนสิงหาคม 2561 ขยายตัวสูงขึ้นที่ร้อยละ 6.7 เติบโตต่อเนื่องเป็น
เดือนที่ 18 หรือคิดเป็นมูลค่า 22,794 ล้านดอลลาร์สหรัฐ  โดยการส่งออกขยายตัวในระดับสูงในภูมิภาคอาเซียน (ASEAN-5 และ CLMV) เอเชียใต้ (อินเดีย) นอกจากนี้ ตลาดส่งออกหลักและตลาดศักยภาพสูงอื่นๆ ยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี

สำหรับการส่งออกสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรม ขยายตัวที่ร้อยละ 5.8 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 สินค้าที่มีการขยายตัวในระดับสูง ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม

มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่องในระดับสูงเป็นเดือนที่ 18 ที่ร้อยละ 5.8  (YoY) 

สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ 

 

  • สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ขยายตัวเกือบทุกตลาด ขยายตัวร้อยละ 21.8 (ขยายตัวในตลาดจีน สิงคโปร์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น กัมพูชา และอินโดนีเซีย) 
  • รถยนต์และส่วนประกอบ ขยายตัวเกือบทุกตลาด ขยายตัวร้อยละ 19.0 (ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และมาเลเซีย) 
  • เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว ขยายตัวในเกือบทุกตลาด ขยายตัวร้อยละ 50.6 (ขยายตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เวียดนาม และมาเลเซีย) 
  • เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 17.8 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ อินโดนีเซีย จีน อินเดีย และเมียนมา)
  • เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 32.2 (ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย เวียดนาม และสิงคโปร์) 

สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัว ได้แก่ 

  • ทองคำ หดตัวที่ร้อยละ 66.6 (หดตัวในตลาดสิงคโปร์ ญี่ปุ่น ฮ่องกง และเกาหลีใต้ แต่ยังขยายตัวระดับสูงในเยอรมนี) 
  • อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ ไดโอด และโซลาร์เซลล์ หดตัวร้อยละ 23.1 (หดตัวในตลาดฮ่องกง สหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ ฮ่องกง และเวียดนาม แต่ยังขยายตัวในตลาดแคนาดา ญี่ปุ่น และจีน ) 

ภาพรวม 8 เดือนแรกของปี 2561 กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 10.2

ตลาดส่งออกสำคัญ
การส่งออกไปตลาดสำคัญๆ ยังขยายตัวดี โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดศักยภาพสูงที่ขยายตัวร้อยละ 19.2 ซึ่งการส่งออกไปตลาดอาเซียน-5 และตลาด CLMV ขยายตัวสูงสุดในรอบ 85 และ 78 เดือนตามลำดับ นอกจากนี้ การส่งออกไปอินเดียและเอเชียใต้ยังขยายตัวสูงในระดับ 2 หลักอย่างต่อเนื่อง ส่วนการส่งออกไปจีนขยายตัวชะลอลงเล็กน้อยที่ร้อยละ 2.3 ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดหลักขยายตัวร้อยละ 3.2 ซึ่งการส่งออกไปญี่ปุ่นขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ด้านสหรัฐฯ กลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวในเดือนก่อน 

  • ตลาดสหภาพยุโรป หดตัวครั้งแรกในรอบ 16 เดือน แต่คาดว่าจะเป็นการหดตัวในระยะสั้นๆ ด้านตลาดศักยภาพระดับรอง ขยายตัวที่ร้อยละ 5.1 โดยการส่งออกไปลาตินอเมริกา ทวีปออสเตรเลีย และกลุ่มประเทศ CIS ขยายตัวร้อยละ 6.6 10.1 และ 78.6 ตามลำดับ ส่วนตะวันออกกลางยังหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 6.7  
  • ตลาดอาเซียน  ขยายตัวร้อยละ 35.5 ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 85 เดือน นับจากเดือนกรกฎาคม 2554 โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป ข้าว รถยนต์และส่วนประกอบเครื่องปรับอากาศฯ และแผงวงจรไฟฟ้า เป็นต้น ขณะที่ 8 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 16.3 
  • ตลาด CLMV ขยายตัวร้อยละ 32.5 ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 78 เดือน นับจากเดือนมีนาคม 2555 โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ รถยนต์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก น้ำมันสำเร็จรูป และเครื่องจักรกลฯ เป็นต้น ขณะที่ 8 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 19.7 
  • ตลาดเอเชียใต้ ขยายตัวร้อยละ 14.6 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เหล็กและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์รักษาผิว เครื่องยนต์สันดาปฯ และรถยนต์และส่วนประกอบ เป็นต้น ขณะที่ 8 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 20.8 ขณะที่การส่งออกไปอินเดีย ขยายตัวร้อยละ 22.7 
  • ตลาดญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 14.6 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เม็ดพลาสติก รถยนต์และส่วนประกอบ โทรศัพท์และอุปกรณ์ฯ และ เครื่องใช้ไฟฟ้าฯ เป็นต้น ขณะที่ 8 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 16.7 
  • ตลาดสหภาพยุโรป  หดตัวร้อยละ 4.3 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าฯ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ  ยางพารา และผลิตภัณฑ์พลาสติก ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ ขณะที่ 8 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 8.4 
  • ตลาดสหรัฐฯ กลับมาขยายตัวร้อยละ 0.6 จากหดตัวในเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรกลฯ เครื่องนุ่งห่ม และเม็ดพลาสติก เป็นต้น ขณะที่ 8 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 5.5  
  • ตลาดจีน ขยายตัวร้อยละ 2.3 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ผลไม้สด แช่แข็งและแห้งฯ เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์รักษาผิว เม็ดพลาสติก และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เป็นต้น ขณะที่ 8 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 6.3 
  • ตลาดรัสเซีย และกลุ่มประเทศ CIS ขยายตัวร้อยละ 78.6 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาปฯ เครื่องจักรกลฯ ผลไม้กระป๋องฯ และข้าว เป็นต้น ขณะที่ 8 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 31.1
  • ตลาดทวีปออสเตรเลีย ขยายตัวร้อยละ 10.1 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศฯ เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์รักษาผิว อาหารทะเลแปรรูปฯ และ เม็ดพลาสติก เป็นต้น ขณะที่ 8 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 10.6 
  • ตลาดลาตินอเมริกา ขยายตัวร้อยละ 6.6 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องจักรกลฯ รถยนต์และส่วนประกอบ ของเบ็ดเตล็ดทำด้วยโลหะสามัญ เครื่องใช้ไฟฟ้าฯ และเครื่องซักผ้าและส่วนประกอบฯ เป็นต้น ขณะที่ 8 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 7.7 
  • ตลาดตะวันออกกลาง หดตัวร้อยละ 6.7 เป็นการหดตัวต่อเนื่อง 5 เดือนติดต่อกัน สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ โทรศัพท์และอุปกรณ์ฯ และ เหล็กและผลิตภัณฑ์ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่อาหารทะเลแปรรูปฯ ขณะที่ 8 เดือนแรกของปี 2561 หดตัวร้อยละ 2.3 

แนวโน้มการส่งออกปี 2561
ในภาพรวม กระทรวงพาณิชย์ยังคาดว่าการส่งออกในปี 2561 จะสามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมาย
ร้อยละ 8 และ ผู้ประกอบการส่งออกยังเชื่อมั่นว่าการส่งออกมีแนวโน้มเติบโต สะท้อนจากดัชนีภาวะธุรกิจส่งออกเดือน ก.ย. 2561 ดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจส่งออกไตรมาส 4/2561 และดัชนีคาดการณ์ความสามารถในการแข่งขัน ไตรมาส 4/2561 เท่ากับ 50.6 64.8 และ 61.4 ตามลำดับ ซึ่งยังสูงกว่าระดับ 50 

ปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญต่อการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 2561 คือ เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามีการเติบโตบนพื้นฐานที่ดี โดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีน มีสัญญาณการขยายตัวต่อเนื่องทั้งภาคการผลิตและการบริโภคขยายตัวแข็งแกร่ง อีกทั้งการส่งออกของจีนยังคงขยายตัวได้ดีเช่นเดียวกัน สะท้อนให้เห็นว่าท่ามกลางแรงกดดันจากสงครามการค้าส่งผลกระทบในระดับจำกัดและน้อยกว่าตลาดคาดการณ์ เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซน และญี่ปุ่น ยังขยายตัวต่อไปได้ แม้ว่ามีกังวลในประเด็นการคลังและการเงินอยู่บ้าง นอกจากนี้ แม้ว่าสถานการณ์การเงินในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ (Emerging Markets) อาจสร้างความกังวลต่อตลาดในระยะสั้น หลายประเทศยังมีพื้นฐานและเสถียรภาพทางการเงินที่ดี 

แม้ว่าการส่งออกอาจเผชิญความเสี่ยงด้านความไม่แน่นอนของนโยบายการค้า ศักยภาพในการส่งออกของไทยและการกระจายตัวสู่ตลาดส่งออกใหม่ๆ จะช่วยลดทอนความเสี่ยง และสนับสนุนให้การส่งออกไทยขยายตัวได้ตามเป้าหมายของกระทรวงพาณิชย์ที่ร้อยละ 8 ได้ในปี 2561 อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกควรทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงินบาทจากปัจจัยภายนอก เพื่อรักษารายได้การส่งออกในรูปเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

อ่านต่อ 
การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไทยในเดือนกรกฎาคม 2561