การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไทยในเดือนกรกฎาคม 2561

อัปเดตล่าสุด 23 ส.ค. 2561
  • Share :
  • 689 Reads   

การส่งออกของไทยในเดือนกรกฎาคม 2561 ขยายตัวสูงขึ้นที่ร้อยละ 8.3 เติบโตต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17 หรือคิดเป็นมูลค่า 20,424 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การส่งออกรายตลาดส่วนใหญ่ยังขยายตัวได้ดีโดย
การส่งออกไป ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า อีกทั้งตลาดศักยภาพสูงโดยเฉพาะตลาดอินเดีย อาเซียน 5 และ CLMV ยังสามารถรักษาการเติบโตในระดับ 2 หลักได้อย่างต่อเนื่อง


สำหรับการส่งออกสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรม ขยายตัวที่ร้อยละ 7.7 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 17 สินค้าที่มีการขยายตัวในระดับสูง ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และเครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ

 
 

การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม

มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่องในระดับสูงเป็นเดือนที่ 17 ที่ร้อยละ 7.7 (YoY) และภาพรวม 7 เดือนแรกของปี 2561 กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 10.9

โดยสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่

  • สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ขยายตัวเกือบทุกตลาด ขยายตัวร้อยละ 36.6 (ขยายตัวในตลาดจีน สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย กัมพูชา และมาเลเซีย)
  • รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวเกือบทุกตลาด ขยายตัวร้อยละ 11.2 (ขยายตัวในตลาดฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เม็กซิโก มาเลเซียและเวียดนาม)
  • เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 11.1 (ขยายตัวในตลาดฮ่องกง จีน เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี) เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 59.3 (ขยายตัวในตลาดสิงคโปร์  ญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง และอินเดีย)

สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัว ได้แก่

  • เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักร หดตัวที่ร้อยละ 19.5 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ เมียนมา และเกาหลีใต้)
  • ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ หดตัวที่ร้อยละ 18.7 (หดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย และเวียดนาม แต่ยังขยายตัวดีในตลาดเกาหลีใต้ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์)
  • อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด หดตัวร้อยละ 13.6 (หดตัวในตลาดฮ่องกง สหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ และเวียดนาม แต่ยังขยายตัวในตลาดแคนาดา ญี่ปุ่น และเยอรมนี)
  • เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์ และส่วนประกอบ หดตัวที่ร้อยละ 9.2 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ อินเดีย และเยอรมนี แต่ยังขยายตัวดีในตลาดญี่ปุ่น ฮ่องกง และมาเลเซีย ) 

 

ตลาดส่งออกสำคัญ
 
การส่งออกไปตลาดสำคัญๆ ยังขยายตัวดีโดยการส่งออกไปยังตลาดหลักขยายตัวร้อยละ 5.4 ซึ่งการส่งออกไป ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยขยายตัวร้อยละ 11.7 และ
9.0 ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปสหรัฐฯ หดตัวร้อยละ 1.9

การส่งออกไปตลาดศักยภาพขยายตัวในอัตราสูงที่ร้อยละ 15.3 ซึ่งตลาดส่วนใหญ่ขยายตัวในระดับ 2 หลัก โดยเฉพาะการส่งออกอินเดีย อาเซียน 5 และ CLMV ขยายตัวร้อยละ 15.0, 26.6, และ 22.6 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกไปจีนขยายตัวที่ร้อยละ 3.5

ด้านตลาดศักยภาพระดับรองกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 3.1 หลังจากหดตัวในเดือนก่อน โดยการส่งออกไปทวีปแอฟริกา ทวีปออสเตรเลีย ลาตินอเมริกา และกลุ่มประเทศ CIS ขยายตัวร้อยละ 1.9, 2.3, 13.6,
และ 15.9 ตามลำดับ ส่วนตะวันออกกลางยังหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 9.4
 
ตลาดสหภาพยุโรป ขยายตัวร้อยละ 9.0 ดีขึ้นจากร้อยละ 6.1 ในเดือนก่อนหน้า สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ เนื้อและส่วนต่าง ๆ เครื่องปรับอากาศฯ เครื่องยนต์สันดาปฯ และโทรทัศน์
และส่วนประกอบ เป็นต้น ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 10.5
 
ตลาดญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 11.7 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 7.3 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้าฯ เหล็กและผลิตภัณฑ์ และ เครื่องยนต์สันดาปฯ เป็นต้น ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 17.0
 
ตลาดสหรัฐอเมริกา หดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 1.9 สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ โทรทัศน์และส่วนประกอบ และอาหารทะเล กระป๋อง แปรรูปฯ อย่างไรก็ตาม สินค้าที่ขยายตัวได้ดีได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องปรับอากาศฯ และ รถยนต์และส่วนประกอบ ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 6.3
 
ตลาดจีน ขยายตัวร้อยละ 3.5 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ  เม็ดพลาสติก ผลไม้สด แช่แข็งและแห้งฯ และเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์รักษาผิว เป็นต้น ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 6.9
 
ตลาด CLMV ขยายตัวร้อยละ 22.6 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ น้ำมันสำเร็จรูป รถยนต์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก และ น้ำตาลทราย เป็นต้น ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2561
ขยายตัวร้อยละ 17.7
 
ตลาดอาเซียน  ขยายตัวร้อยละ 26.6 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องยนต์สันดาปฯ ข้าว น้ำตาลทราย และ รถยนต์และส่วนประกอบ เป็นต้น ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 13.4

ตลาดเอเชียใต้ ขยายตัวร้อยละ 11.9 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง ทองแดงฯ เครื่องยนต์สันดาปฯ และ เหล็กและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 21.8 ขณะที่การส่งออกไปอินเดียยังคงขยายตัวในอัตราสูงต่อเนื่องที่ร้อยละ 15.0
 
ตลาดประชาคมรัฐเอกราช (CIS) ขยายตัวร้อยละ 15.9 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องยนต์สันดาปฯ โทรศัพท์และอุปกรณ์ฯ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องปรับอากาศฯ และ เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เป็นต้น
ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 25.6
 
ตลาดลาตินอเมริกา ขยายตัวร้อยละ 13.6 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องใช้ไฟฟ้าฯ ของเบ็ดเตล็ดทำด้วยโลหะสามัญ และ เหล็กและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ขณะที่
7 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 7.9
 
ตลาดทวีปออสเตรเลีย ขยายตัวร้อยละ 2.3 สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์รักษาผิว เครื่องปรับอากาศฯ ข้าว น้ำมันสำเร็จรูป และ ตู้เย็นและส่วนประกอบฯ เป็นต้น ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 10.7
 
ตลาดตะวันออกกลาง หดตัวร้อยละ 9.4 เป็นการหดตัวต่อเนื่อง 4 เดือนติดต่อกัน สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ข้าว และ เครื่องปรับอากาศฯ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่อาหารทะเลแปรรูปฯ ขณะที่ 7 เดือนแรกของปี 2561 หดตัวร้อยละ 1.7
 
แนวโน้มการส่งออกปี 2561
 
ในภาพรวม กระทรวงพาณิชย์ยังคาดว่าการส่งออกในปี 2561 จะสามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมายร้อยละ 8 และผู้ประกอบการส่งออกยังเชื่อมั่นว่าการส่งออกยังมีแนวโน้มเติบโต โดยดัชนีภาวะธุรกิจส่งออกเดือน ส.ค.2561 เท่ากับ 50.9 อีกทั้งค่าดัชนีมูลค่าคำสั่งซื้อใหม่ปรับสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า
 
นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกที่มีการขยายตัวอย่างชัดเจนในเกือบทุกภูมิภาค อาทิ สหรัฐฯ กลุ่มประเทศยูโรโซน จีน ญี่ปุ่น และอาเซียน เป็นปัจจัยสนับสนุนให้การส่งออกขยายตัวและการกระจายตัวได้ดีขึ้น โดยสินค้าที่มีแนวโน้มขยายตัวสูงได้แก่ สินค้าอุตสาหกรรม (เทคโนโลยี อิเล็กทรอนิกส์ และรถยนต์) และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมัน อาทิ เคมีภัณฑ์และพลาสติก
 
แม้ว่าในระยะสั้น-กลาง การส่งออกอาจเผชิญความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของนโยบายการค้า และความผันผวนของตลาดการเงินและตลาดทุนโดยเฉพาะกลุ่มประเทศเกิดใหม่ ซึ่งอาจกระทบกับอัตราแลกเปลี่ยน การส่งออกของไทยที่มีการกระจายตัวในตลาดใหม่ๆ และศักยภาพในการขยายตลาดที่มากขึ้นในอนาคต จะช่วยลดทอนความเสี่ยงและผลกระทบจากปัจจัยดังกล่าว และสนับสนุนให้การส่งออกไทยขยายตัวได้ตามเป้าหมายของกระทรวงพาณิชย์ที่ร้อยละ 8 ได้ในปี 2561 นอกจากนี้ สถานการณ์ค่าเงินบาทที่เริ่มอ่อนค่าลงเป็นโอกาสดีต่อผู้ส่งออก ในการเร่งผลักดันส่งออกสินค้าและทำให้รายได้การส่งออกในรูปเงินบาทสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกควรทำประกันความเสี่ยงจากความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยนและสถานการณ์การค้าด้วยเช่นกัน