055-ส่งออกไทย-สงครามการค้า-เศรษฐกิจ

ชง ‘บิ๊กตู่ ’แก้เกมส่งออกติดลบ ล้วงท้องถิ่น 6 แสนล้าน ฟื้น ศก.

อัปเดตล่าสุด 16 ส.ค. 2562
  • Share :
  • 562 Reads   

คู่เอกสงครามการค้าโลกลามเพิ่ม 5 คู่ ถล่มส่งออกไทยเดี้ยงซ้ำ “หอการค้า” ชี้ปี’62 ส่อติดลบ 2% วูบ 1.1 แสนล้านบาท ชง “กรอ.” วางหมากแก้เกมระยะสั้น-กลาง-ยาว สภาหอการค้าฯ ยื่นสมุดปกขาวบิ๊กตู่ แก้ปัญหาสินค้าเกษตร-ภาคบริการ กระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ครม.เศรษฐกิจปลดล็อกใช้เงินสะสมท้องถิ่น 6 แสนล้าน ปลุกเศรษฐกิจฐานราก
 
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า การประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ (กรอ.) ซึ่งมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน วันที่ 14 สิงหาคม 2562 จะหารือร่วมกับตัวแทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รวมทั้งสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง ก่อนจะมีการประชุมทูตพาณิชย์ประเมินสถานการณ์การส่งออกอย่างเป็นทางการอีกครั้ง 28 สิงหาคมนี้

ห่วง 3 สงครามทุบ ศก.โลกพัง

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า มีโอกาสที่การส่งออกไทยปี 2562 จะติดลบ 1-2% มูลค่าส่งออกหายไป 910-3,762 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 28,776-118,893 ล้านบาท เนื่องจากช่วง 5 เดือนหลังของปี 2562 ปัจจัยเสี่ยงไม่ใช่เพียงสงครามการค้าสหรัฐ-จีนมวยคู่เอกเท่านั้น แต่ยังมีมวยคู่รอง 5 คู่ที่น่าห่วงที่สุด คือ 

1) คู่ขัดแย้งระหว่างเกาหลีใต้-ญี่ปุ่น ซึ่งเตรียมใช้มาตรการขั้นรุนแรง คือ การประกาศปรับลดอันดับการให้ความสำคัญและให้สิทธิพิเศษทางการค้าระหว่างกันลง จะเริ่มในวันที่ 28 สิงหาคมนี้ ซึ่งจะกระทบไทยในฐานะอยู่ในห่วงโซ่การผลิตส่งออกวัตถุดิบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ป้อนให้ทั้งสองประเทศ

2) ประเด็นการชุมนุมในฮ่องกง ซึ่งยังรุนแรงและเชื่อมโยงถึงจีน อาจกระทบการส่งออกสินค้าหลายรายการของไทย 3) ความขัดแย้งประเด็นการเมืองระหว่างอินเดีย-ปากีสถาน 4) สถานการณ์ความขัดแย้งอิหร่าน-สหรัฐ และ 5) อังกฤษ-อียู ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป

“ภาพรวมเศรษฐกิจโลกน่าห่วงมาก ประเด็นสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ก่อนหน้านี้ลามไปสู่การทำสงครามด้านไซเบอร์ สงครามค่าเงิน ซึ่งจีนพยายามลดค่าเงินหยวน เพื่อชดเชยที่สหรัฐขึ้นภาษีนำเข้า 25% หาก 3 สงครามนี้ยืดเยื้อจะทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย (recession) จนพัง หรือเรียกว่า collapse จะกระทบการส่งออกไทย เห็นผลชัดเจนในปี 2563-2564 อิมแพ็กต์จะแรงกว่าปีนี้”

แก้ส่งออกติดลบ-กระตุ้นภายใน

แนวทางที่คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ควรดำเนินการโดยเร็ว ต้องประเมินปัจจัยเสี่ยง 5 เดือนหลัง และความรุนแรงของแต่ละปัจจัย และเตรียมมาตรการแก้ไขโดยรักษาตลาดส่งออกเดิมให้ได้ อาจใช้ยุทธศาสตร์ราคาและอัตราแลกเปลี่ยน ให้สินค้าไทยแข่งขันได้ เร่งจัดกิจกรรมช็อป ชิม ใช้ ในตลาดส่งออกสำคัญ และต้องกระตุ้นการบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้น

TDRI มองต่าง ศก.โลกไม่ถดถอย

นางสาวกิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการวิจัยและคำปรึกษาระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกยังไม่ถึงขั้นถดถอยหรือขั้นวิกฤต เพราะเศรษฐกิจสหรัฐ หรือจีนเองยังขยายตัวเป็นบวก ไม่ถึงขั้นติดลบ แต่อาจจะชะลอตัวลงช่วงสั้น ๆ หรือกรณียุโรป แม้อังกฤษจะออกจากสมาชิก เศรษฐกิจอียูก็ยังขยายตัวเป็นบวกเพราะพึ่งพาอังกฤษน้อยมาก แต่เศรษฐกิจอังกฤษอาจถดถอยบ้างระยะเวลาสั้น ๆ

พาณิชย์คงเป้าส่งออก 3%

ขณะที่นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรอ.จะประเมินสถานการณ์และกำหนดแนวทางรับมือสงครามการค้าจีน-สหรัฐที่มีแนวโน้มยืดเยื้อ และขยายวงกว้างเป็นสงครามค่าเงิน สงครามเทคโนโลยี รัฐพร้อมสนับสนุนช่วยเหลือเอกชนให้ส่งออกได้ตามเป้าที่วางไว้ 3%

สั่งทูตพาณิชย์ดูรายสินค้า

นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ได้มอบให้ทูตพาณิชย์ติดตามสถานการณ์ทางการค้าการส่งออกและเศรษฐกิจทั่วโลก โดยมุ่งนโยบายรักษาตลาดเดิม ขยายตลาดใหม่ ทูตพาณิชย์ต้องดูรายสินค้า รายการใดที่ส่งออกได้เพิ่มขึ้น ลดลง หรือไม่ได้เลย เพื่อหารือว่าปัญหาเกิดจากอะไร และขยายหรือผลักดันการส่งออกได้เพิ่มขึ้นหรือไม่ ส่วนปัญหาในฮ่องกง มีสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (ทูตพาณิชย์) ที่ประจำอยู่ฮ่องกง และติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด

ปรับเป้าส่งออก-ยื่นปกขาว

นายกลินท์ สารสิน ประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในการประชุม กรอ.พาณิชย์เตรียมเสนอมาตรการ 3 ด้านที่ได้หารือกัน คือ จะตั้งวอร์รูมมอนิเตอร์สงครามการค้า ตั้งคณะทำงานเพื่อทบทวนกฎหมาย/กฎระเบียบที่ล้าสมัย และคณะทำงานเพื่อพิจารณาแนวทางส่งออกรายประเทศ และในวันเดียวกันจะเข้าพบเพื่อยื่นสมุดปกขาวต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาแนวทางผลักดันการค้าสินค้าเกษตร และด้านบริการ ซึ่งเป็นข้อสรุปจากการประชุมหอการค้าทั่วประเทศ

“เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะสโลว์ดาวน์ อาจต้องทบทวนเป้าส่งออกใหม่ คาดว่าจะติดลบเพิ่มเป็นลบ 1-2% แต่ต้องดูว่าสินค้าใดที่มีจุดแข็งสามารถแข่งขันได้ รวมถึงกระตุ้นการบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้น”

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. มองว่าภาพรวมปัจจัยเสี่ยงน่าจะฟื้นตัวดีขึ้น หลังมีความชัดเจนเรื่องการยังไม่ปรับค่าแรงงานขั้นต่ำ ลดดอกเบี้ยนโยบาย และที่ ธปท.ยืนยันจะเข้ามาดูแลปัญหาค่าบาท แต่ยังต้องเกาะติดสถานการณ์

เร่งรัดส่งออกรถยนต์-ชิ้นส่วนไอที

ด้านนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กรอ.ต้องประเมินสถานการณ์การส่งออกและกำหนดมาตรการรับมือปัจจัยเสี่ยงภายนอกที่รุนแรงขึ้น แต่ไม่น่าเลวร้ายเท่ารอบที่ผ่านมา

ขณะนี้มีประเทศเศรษฐกิจใหม่หลายประเทศรวมถึงยูโรโซนเริ่มปั่นป่วน เวเนซุเอลาเข้าสู่ภาวะถดถอยครั้งที่ 6 ในปีนี้ อาร์เจนตินาเศรษฐกิจหดตัว ส่วนอาเซียนรีเซสชั่น หลายประเทศในอาเซียนส่งออกลดลง ยกเว้นเวียดนามที่ส่งออกดีขึ้น ส่วนไทยต้องแข่งขันกับหลายประเทศในอาเซียน โดยเฉพาะสินค้าที่ผลิตแบบเดียวกัน 40 รายการ เช่น สิ่งทอ โพลิเมอร์ พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

ข้อเสนอในการประชุมรอบนี้จะขอให้รัฐเร่งรัดการพิจารณาการส่งออกสินค้ากลุ่มที่ได้รับผลกระทบ 3 กลุ่ม ไปยังตลาดส่งออกที่เติบโตเพื่อกระจายความเสี่ยง คือรถยนต์ ไปตลาดเลบานอน มาเก๊า กัวเตมาลา อียิปต์ สินค้าอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ไปมอลตาอันดอร์รา ไนจีเรีย เบลารุส คอสตาริกา และแผงวงจรไฟฟ้าไปยังตลาดออสเตรีย กรีซ ยูเออี ยูเครน และเบลเยียม

ปลดล็อกงบท้องถิ่น 6 แสนล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม ได้เห็นชอบให้กระทรวงมหาดไทยแก้ระเบียบหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในส่วนของเงินรายได้สะสมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่ขณะนี้มีงบประมาณ 6 แสนล้านบาท เพื่อนำงบประมาณดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ในการลงทุนโครงการส่วนท้องถิ่นโดยจะนำเสนอให้ที่ประชุม ครม.เห็นชอบต่อไป

และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มีข้อสั่งการให้ทุกกระทรวงเสนอมาตรการกระจายรายได้ระดับกลางและระดับล่างเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากให้ได้มากที่สุด และหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจหลายรอบ โดยจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ หรือ ครม.เศรษฐกิจ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ ซึ่งจะมีการประชุมครั้งแรกวันที่ 16 สิงหาคมนี้