041-ธุรกิจ-อุตสาหกรรม-ดิสรัปชัน

4 บิ๊กธุรกิจฝ่าพายุศก. ชำแหละโจทย์ขับเคลื่อนประเทศ

อัปเดตล่าสุด 12 พ.ย. 2562
  • Share :
  • 591 Reads   

3 ทายาทธุรกิจยักษ์ “ซี.พี.-AWC-ไทยซัมมิท” ถอดรหัสก้าวข้ามพายุเศรษฐกิจ “ศุภชัย เจียรวนนท์” ชำแหละโจทย์ใหญ่ขับเคลื่อนประเทศ “ภาคเกษตร” ยังเป็น 1.0 ชี้แผนดึงต่างชาติปักหมุดอีอีซี ยังไม่มี “ยักษ์ใหญ่” เข้ามา”วัลลภา ไตรโสรัส” ชูธงขับเคลื่อนท่องเที่ยว ปักหมุดบิ๊กโปรเจ็กต์พัทยารับ EEC “ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ” ตีโจทย์โอกาสและปัญหาลงทุนรถอีวี “กระทิง” แห่ง KBTG ชี้เป็นยุคแห่งการดิสรัปต์กันไปมา

เวทีสัมมนาใหญ่ประจำปีประชาชาติธุรกิจ “THAILAND 2020 #ก้าวข้ามพายุเศรษฐกิจ” เมื่อ 6 พ.ย.ที่ผ่านมา 3 ทายาทธุรกิจยักษ์ใหญ่ของเมืองไทยจาก 3 วงการธุรกิจ และอีกหนึ่งกูรูด้านเทคโนโลยี ในการถอดรหัสก้าวข้ามพายุเศรษฐกิจและพายุดิจิทัลดิสรัปต์ที่ไม่มีใครหนีพ้น

ศุภชัย : โอกาสในปี 2020

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวในหัวข้อ “Thailand 2020…โอกาสการค้า การลงทุน” ว่า ปัจจุบันประเทศต่าง ๆ และประเทศไทยเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงจากหลายด้านทั้งสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ รวมถึงเมกะเทรนด์ต่าง ๆ ซึ่งสร้างทั้งวิกฤตและโอกาสได้พร้อมกัน จึงเป็นความท้าทายของประเทศในการปรับเปลี่ยนและพัฒนาตนเองด้านต่าง ๆ ให้ตอบโจทย์เศรษฐกิจธุรกิจ และแข่งขันได้ในโลก และผลพวงจากสงครามการค้าระหว่างมหาอำนาจเชื่อมโยงถึงเศรษฐกิจโลกในปี 2020 ที่จะชะลอตัวลง 0.3% เหลือขยายตัว 2.7% ในส่วนของไทยทำให้ตัวเลขส่งออกปรับลดลง แต่อยากตั้งข้อสังเกตว่าที่ส่งออกปีนี้ปรับตัวลดลงมาก ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาเงินบาทแข็งค่า

อีกส่วนหนึ่งมาจากศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทย เพราะไทยลงทุนค่อนข้างน้อย ทั้งที่ได้ดุลการค้าต่อเนื่อง และมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมากถึง 2.2 แสนล้านเหรียญ ติดท็อป 10 โลก สัดส่วนหนี้สินต่อจีดีพีในไตรมาส 3/2562 แค่ 41.1% ลดลงจากปี 2559 ที่มีสัดส่วน 43% หากเทียบกับประเทศที่มีเศรษฐกิจดีจะมีสัดส่วนหนี้สินต่อจีดีพีได้ถึง 60% รัฐบาลควรส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเพิ่มขึ้นทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงแนวคิดการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ด้วยการตั้ง “ธนาคารเพื่อการพัฒนา” เพื่อส่งเสริมการลงทุนธุรกิจ “เอสเอ็มอี” เพื่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ และมีเงินกู้ระยะยาว รวมถึงมีมาตรการส่งเสริมด้านภาษี เพื่อกระจายความเสี่ยงให้กับเอสเอ็มอี

ที่น่าสนใจคือ ประเทศไทยซึ่งเป็นครัวของโลก เป็นผู้ส่งออกอาหาร ขณะที่จีนเป็นประเทศผู้นำเข้าสุทธิและส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าอาหาร แต่พบว่าประเทศไทยขาดดุลการค้าจีน ซึ่งถ้าไทยวางยุทธศาสตร์การส่งออกจากโอกาสตรงนี้ได้ ก็น่าจะเป็นโอกาสของการส่งออกอาหารไทยได้

พลิกเกษตรจาก 1.0 สู่ 4.0

นายศุภชัยกล่าวด้วยว่า ประเทศไทยมีความอุดมสมบูรณ์ จึงอยู่ในฐานะผู้ส่งออก”อาหาร” และการจะพัฒนาให้เป็น “ครัวของโลก” สิ่งสำคัญจะต้องผลักดันให้เกิดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ด้านระบบชลประทาน และการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้เพื่อเปลี่ยนเกษตรกรไทยไปสู่การทำการเกษตรแบบสมัยใหม่ (agriculture transformation) เนื่องจากปัจจุบันเกษตรกรไทยราว 23 ล้านคนหรือเกือบ 40% ของประชากรในประเทศยังเป็นเกษตรครัวเรือน หรือยุค 1.0 เป็นการขายสินค้าเกษตรแบบคอมมิวดิตี้ส่วนใหญ่ยังไม่ได้มีการพัฒนาเป็น “food product” ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่อง “FoodTech”

“ต่อไปฟู้ดเทคจะเป็นเรื่องใหญ่ ที่เราออกจากกับดักรายได้ปานกลางไม่ได้ ก็เพราะภาคเกษตรส่วนใหญ่ยังเป็นเกษตรครัวเรือน ยังไม่ได้พัฒนาไปสู่การเป็นเกษตรอุตสาหกรรม ถึงเวลาแล้วที่เราต้องเปลี่ยนแปลง และถ้าเราทรานส์ฟอร์มภาคการเกษตรได้ ศักยภาพในการแข่งขันของเราจะสูงขึ้น”

งัดมาตรการดึงดูด “บิ๊กบอย”

นอกจากนี้ นายศุภชัยมองว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีมาตรการในเชิงรุกเพื่อดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่จะช่วยยกระดับและพัฒนาอุตสาหกรรมให้ไปสู่ 4.0 ได้ เช่น การลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ หรืออีอีซี ที่เริ่มเดินหน้าไปแล้ว ซึ่งต้องดึงนักลงทุนระดับโลก (บิ๊กบอย) ในสาขาต่าง ๆ เข้ามาลงทุนให้ได้ ผ่านมาตรการเชิงรุก และอำนวยความสะดวกให้เป็น one stop service ดังเช่น ฟ็อกคอนน์ ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนไอโฟน สัญชาติไต้หวันย้ายฐานการผลิตจากจีน 30% ไปเวียดนาม

“หากไทยดึงบิ๊กบอยในสาขาต่าง ๆ เข้ามาลงทุนในบ้านเราได้ก็จะสร้างโอกาสให้กับธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมที่เกี่ยวข้องได้อีกมาก ทำให้เกิดการจ้างงานหรือกรณีโตโยต้าที่จะไปลงทุนในอินโดนีเซีย เพื่อเป็นฐานการผลิตสินค้ายานยนต์ในอนาคต ทั้งไฮโดรเจนและอีวี เป็นต้น

แม่ทัพเครือเจริญโภคภัณฑ์กล่าวต่อว่าในปี 2562 เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในอาเซียนเติบโตต่อเนื่องเเละสูงขึ้นทุกปี อันดับ 1 คือ สิงคโปร์ มูลค่า 78,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 6.5% อินโดนีเซีย 22,000 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้น 3.2% ตามด้วยเวียดนาม ที่ 16,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 11.7% ขณะที่การลงทุนในไทยอยู่ที่ 10,000 ล้านเหรียญ ลดลงถึง 7.5% จึงเป็นเรื่องน่าเสียดาย

AWC ลุยไม่ยั้ง 5 ปี 13 โครงการ

นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC ร่วมเปิดมุมมองในหัวข้อ “Super Productive ก้าวข้ามพายุเศรษฐกิจ” ว่า อสังหาริมทรัพย์เป็นการลงทุนระยะยาว AWC ตระหนักและให้ความสำคัญในเรื่องคุณค่าการพัฒนาโครงการจะส่งต่อรุ่นสู่รุ่น “วันนี้คำถามคือเราจะก้าวข้ามพายุเศรษฐกิจนี้ได้อย่างไร”

โดยวงจรธุรกิจพร็อพเพอร์ตี้จะสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ และชุมชน เป็นที่มาของบิสซิเนสโมเดลภายใต้แนวคิด “Building a Better Future” ร่วมกันสร้างอนาคตที่ดีกว่า เน้นเซ็กเตอร์ท่องเที่ยวซึ่งไทยมีการเติบโตสูง ที่น่าสนใจมากที่สุด คือ ธุรกิจจัดประชุม สัมมนา หรือ MICE มีอัตราการเติบโตสูงถึง 48% ต่อปี

“เมื่อมองถึงศักยภาพตรงนี้เราจึงสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้กับประเทศด้วยการพัฒนาอสังหาฯ ที่มีคุณภาพมาตรฐานระดับโลก ซึ่งถือว่าเราจะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างขีดการแข่งขันให้กับประเทศไทย”

ปัจจุบันพอร์ตของ AWC แบ่งเป็น 4 พอร์ตหลัก โรงแรม 14 แห่ง ห้องพักรวม 4,421 ห้องพัก, ธุรกิจรีเทล 9 แห่ง พื้นที่รวม 198,781 ตารางเมตร, อาคารสำนักงานให้เช่า 4 แห่ง พื้นที่รวม 270,594 ตารางเมตร และมีโครงการที่อยู่ระหว่างลงทุนในช่วง 5 ปี อีก 13 โครงการ ถือเป็นพอร์ตใหญ่สุดของประเทศ

ผุดบิ๊กโปรเจ็กต์พัทยารับ EEC

นางวัลลภาระบุว่า แผนเติบโตในระยะกลาง ตั้งเป้าเติบโตในส่วนของห้องพักโรงแรม 2 เท่า และพื้นที่ค้าปลีกเพิ่มขึ้น 2 เท่าเช่นกัน โดยมีโครงการลงทุนใหญ่ที่สุด เป็นโครงการมิกซ์ดีเวลอปในพัทยา ทำเลต่อเนื่องกับพื้นที่อีอีซี ทั้งเป็นศูนย์การประชุมสัมมนาระดับเวิลด์คลาส โดยตั้งเป้าให้เป็น best and biggest hotel in the beach เพื่อดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวเป้าหมายระดับโลกให้เป็นเดสติเนชั่นใหม่ ๆ

ในขณะที่ธุรกิจโรงแรมได้รับผลกระทบจากแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เข้าถึงผู้บริโภคได้มากกว่า โดยที่โรงแรมต้องจ่ายส่วนแบ่งถึง 25-30% ในส่วนของ AWC กลยุทธ์หลัก คือ รักษายอด direct booking จากช่องทางต่าง ๆ รวมถึงเว็บไซต์ของโรงแรม ปัจจุบันยังเป็นสัดส่วนหลัก ส่วนการขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์อื่น ๆ มีแค่ 20%

ปัจจุบันเชนต่างประเทศก็มีการผนึกกำลังสร้าง network loyalty สร้าง network program เพื่อรับมือกับดิสรัปต์ ในส่วนของ AWC มีพันธมิตรระดับโลก 6 แห่ง ได้แก่ Marriott International (รวม Starwood) ฮิลตัน อินเตอร์คอนติเนนตัล โฮเต็ล กรุ๊ป, มีเลีย, บันยันทรี และโอกุระ ทำให้มีเครือข่ายลูกค้า 300 ล้านเมมเบอร์จากทั่วโลก โดยกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเป็นลูกค้าระดับบน กลุ่มใหญ่สุดเป็นนักท่องเที่ยวจีน 18% ญี่ปุ่น 11% สหรัฐอเมริกา 10% เกาหลีใต้และสิงคโปร์อย่างละ 5% ลูกค้าคนไทยและฮ่องกงอย่างละ 4% อินเดีย 3% และอื่น ๆ 40% อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการที่ให้ความสำคัญมากที่สุดย้อนกลับมาเรื่องคน

“การจะสร้างศักยภาพในการแข่งขันได้ ต้องมองกลับมาข้างในองค์กร คือ เรื่องคน”ทุกครั้งที่มีพายุเศรษฐกิจให้มองเป็นโอกาสถ้ากลับมาได้จะเป็นโอกาสที่มหาศาล”

ค่ายรถถูกดิสรัปต์ “ผู้รับจ้างผลิต”

นางสาวชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานอาวุโสกลุ่มบริษัท ไทยซัมมิท ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รายใหญ่ของไทย พูดในหัวข้อ “Next Chapter อุตสาหกรรมยานยนต์” ฉายภาพอุตสาหกรรมยานยนต์ที่กำลังเปลี่ยนไปว่า การเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้า(อีวี)-เทคโนโลยีขับเคลื่อนอัตโนมัติ ทำให้ซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมรถยนต์เปลี่ยนไป เปิดโอกาสให้หลายธุรกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่อย่าง กูเกิล แอปเปิล และอีกหลายบริษัทที่ประกาศเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ยุคใหม่ โดยไม่ต้องลงทุนตั้งโรงงานผลิต เพียงเป็นเจ้าของเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นปัญญาประดิษฐ์ ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ

รวมถึงระบบการสื่อสารในรถยนต์ และอาศัยความร่วมมือกับค่ายรถยนต์ ให้เป็นผู้ผลิตภายใต้แบรนด์ใหม่ ๆ และทำให้ค่ายรถยนต์ต้องเผชิญความท้าทาย จากที่เป็น “ผู้ผลิตรถยนต์” ผู้ควบคุมตลาด ก็อาจตกชั้นเป็นแค่ “ผู้รับจ้างผลิต” บริษัทยักษ์เทคโนโลยีก็จะกลายเป็นเจ้าของแบรนด์ และเป็นผู้ส่งสินค้าและบริการถึงผู้บริโภคแทน ทำให้ผู้ผลิตหรือค่ายรถยนต์ในปัจจุบันถูกลดชั้นจาก “กองหน้า” เป็น “กองกลาง”เพราะพฤติกรรมลูกค้าในอนาคตไม่ได้ซื้อรถยนต์ แต่ซื้อบริการโมบิลิตี้ (Mobility-as-a-Service)

สำหรับผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ที่หลายฝ่ายมองว่าจะล้มหายตายจากไปนั้นอาจไม่จริงเสมอไป หากลงทุนและปรับตัวในทิศทางที่ถูกต้อง เพราะแม้จะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าหรือรถไร้คนขับ ก็ยังต้องการชิ้นส่วน เพียงแต่จะต้องพัฒนาไปในทิศทางที่ถูกต้อง เช่น ชิ้นส่วนตัวถังรถ,เบาะที่นั่ง, อุปกรณ์ตกแต่งภายในที่ตอบโจทย์ เพราะอนาคตจะเป็นการอาศัยในรถ นางสาวชนาพรรณกล่าวเพิ่มเติมว่า การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยานยนต์ยังมีผลกระทบต่อภาครัฐด้วย เพราะรายได้ภาษีสรรพสามิต 35.9% มาจากการนำเข้าน้ำมัน อีก 22.8% เป็นภาษีรถยนต์ เรียกว่าภาษีสรรพสามิตเกือบ 60% มาจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน ซึ่งถ้าเปลี่ยนเป็นรถอีวี รายได้จะหายไป

ตีโจทย์แจ้งเกิดอุตฯรถยนต์ไฟฟ้า

อย่างไรก็ตาม การเกิดขึ้นของอุตฯรถยนต์ไฟฟ้าต้องมีทั้งแรงผลักและแรงดึงสำหรับ “แรงผลัก” เรื่องแรก คือ นโยบายของรัฐบาล หลาย ๆ ประเทศออกประกาศให้สิทธิประโยชน์ต่าง ๆ กับผู้ใช้และผู้ผลิตรวมถึงมาตรการลงโทษ เช่น เรื่องมลพิษ ค่าฝุ่น ทำให้ต้องปรับตัว แต่สิ่งสำคัญที่จะทำให้ “รถยนต์ไฟฟ้า” เกิดขึ้นได้ ต้องมี “แรงดึง” คือ การสร้างความต้องการของ “ผู้บริโภค” ให้ยอมรับและเลือกซื้อรถยนต์ไฟฟ้า รองประธานอาวุโสกลุ่มไทยซัมมิทกล่าวว่า ที่ผ่านมามี 29 องค์กรทั่วโลกลงนามผลักดันนโยบายรถยนต์ไฟฟ้า “EV30@30EV” คือ ในปี 2030 จะผลักดันให้รถยนต์ไฟฟ้ามีส่วนเเบ่ง 30% คาดว่าจะทำให้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มเป็น 250 ล้านคันทั่วโลก

ขณะที่เมืองไทยปีที่ผ่านมามียอดขายรถอีวี 325 คัน ส่วนใหญ่ยังเลือกซื้อรถไฮบริด ขณะที่นโยบายส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในเมืองไทยยังเน้นให้สิทธิประโยชน์กับผู้ผลิตรถยนต์ ซึ่งมองว่าเมืองไทยยังขาด 2 องค์ประกอบหลัก คือ “ตลาดในประเทศ” และ “โครงข่ายสถานีชาร์จ” ซึ่งประเทศที่ตลาดรถอีวีเติบโตอย่างจีน รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมในฝั่งผู้บริโภค ทั้งการซับซิไดซ์ราคาและอื่น ๆ ดังนั้นการที่จะให้การลงทุนอุตฯรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศเกิด ต้องมีแผนที่จะกระตุ้นหรือสร้างตลาดในประเทศให้เกิดขึ้นด้วย

ยุคแห่งการดิสรัปต์กันไปมา

ขณะที่ นายเรืองโรจน์ พูนผล หรือ “กระทิง” ประธานกสิกร บิซิเนส เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) กล่าวในหัวข้อ ”Fast Forward in Digital Era” ว่าโลกธุรกิจเข้าสู่ยุคดิจิทัลดิสรัปชั่น ตั้งแต่เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ส่งผลให้อายุเฉลี่ยของบริษัทลดลงจาก 18 ปี ต่อไปจะเหลือเพียง 15 ปี และเข้าสู่ยุคที่ดิจิทัลแพลตฟอร์มกำลังเข้ามากลืนกินทุกสิ่ง และเกิดการหลอมรวมกันของเทคโนโลยีต่าง ๆ ทำให้ไม่มีพรมแดนของธุรกิจต่าง ๆ อีกต่อไปเช่น บริษัทที่ทำอีคอมเมิร์ซอาจย้ายมาทำบริการการเงิน หรือบริการขนส่งได้ เป็นต้น

ตั้งแต่ปีหน้าจะเห็นผลกระทบลามไปทุกวงการ ทั้งธุรกิจท่องเที่ยว, มีเดีย, คอนซูเมอร์อิเล็กทรอนิกส์ และแฟชั่น จะโดนดิสรัปชั่นอย่างเข้มข้น อีกทั้งเป็นการ “ดิสรัปต์กันไปมา” ดิสรัปเตอร์ที่เคยทรงอิทธิพลอาจโดนรายใหม่เข้ามาดิสรัปต์ เหมือนอย่าง “เฟซบุ๊ก” โดนท้าทายจากแอปพลิเคชั่น “TikTok” ของจีน ที่เข้ามาแย่งทั้งจำนวนผู้ใช้และเวลาในการใช้

“ในวงการค้าปลีกจะเห็น new retail ที่ผนวกไว้ทั้งอีคอมเมิร์ซ ห้างสรรพสินค้า โลจิสติกส์ สร้างอีโคซิสเต็มทั้งหมด แต่ omichannel ถือว่าตายไปแล้ว เพราะเรากำลังเข้าสู่ยุค harmonized retail ในฝั่งอีคอมเมิร์ซ ได้ก้าวผ่านยุคของอีมาร์เก็ตเพลซไปแล้ว เพราะเป็นธุรกิจที่ไม่ทำเงิน และจะไปสู่ยุค vertical e-Commerce และจะเป็นยุคที่ผู้ผลิตสินค้าขายสินค้าตรงไปถึงมือผู้บริโภค แบบ D2C : direct to consumer ที่มีสินค้าให้เลือกไม่มาก แต่ทุกชิ้นคือสิ่งที่ดีที่สุด”

มุ่ง Regional Digital Bank

สำหรับในธุรกิจการเงินก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน ทำให้ KBTG ให้ความสำคัญกับการลงทุนเทคโนโลยี โดยเฉลี่ยปีละกว่า 5,000 ล้านบาท โดยเฉพาะ data analytic มีการลงทุนเพื่อนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาช่วยพัฒนาศักยภาพในการให้บริการลูกค้า แต่ท่ามกลางกระแสดิสรัปชั่นยังมีโอกาส โดยเฉพาะบริการด้านการเงิน เพราะมีผู้คนถึง 3 ใน 4 ของประชากรในอาเซียนที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน และสิ่งที่กำลังมา คือ digital lending จึงเป็นหนึ่งในธงนำของเคแบงก์ในปีหน้าด้วย

ธุรกิจถ้าไม่เร่งปรับตัวจะเหนื่อยแน่ ช่องว่างระหว่างคนที่รู้ดิจิทัลกับคนที่ยังไม่เข้าถึงดิจิทัลจะยิ่งห่างมากขึ้น บริษัทที่ปรับตัวเร็วก็จะอยู่รอด ส่วนบริษัทที่ปรับตัวไม่ได้ก็จะอยู่ไม่รอด อย่างที่เห็นกันว่าเกิดขึ้นในเกือบทุกเซ็กเตอร์ และต้องหาทางไปค้าขายไปโตในต่างประเทศด้วย เพราะการมีดิจิทัลทำให้เราเข้าถึงตลาดโลกได้ง่ายขึ้น อย่าง KBANK เราก็ตั้งเป้าจะก้าวไปเป็น “Regional Digital Bank”

นายเรืองโรจน์ย้ำว่า ในปี 2020-2025 จะเข้าสู่ช่วงเวลาที่เรียกว่า “The End Game” เปรียบได้กับสงครามครั้งสุดท้ายที่จะผลักดันให้ธุรกิจต่าง ๆ ไม่สามารถทำธุรกิจแบบเดิม ๆ ได้อีกต่อไป อีก 5 ปีข้างหน้าจะยิ่งทำธุรกิจยากขึ้น และเหนื่อยขึ้น ไม่สามารถยืนอยู่บนสินทรัพย์เดิม หรือแข่งด้วยเกมเดิม ๆ ได้อีก แต่ประเทศไทยยังมีโอกาส ซึ่งผู้ประกอบการไทยต้องสู้ และผนึกกำลังกันออกไปแสวงหาโอกาสในตลาดต่างประเทศ