เตือนเศรษฐกิจโลกเสี่ยงเกิดวิกฤตเหมือนเมื่อครั้ง 10 ปีที่แล้ว

อัปเดตล่าสุด 4 ก.ย. 2561
  • Share :
  • 345 Reads   

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานเมื่อวันที่ 4 กันยายนว่า ระบบการเงินของสหรัฐอเมริกาเมื่อ 10 ปีที่แล้วพังทลายลงจากการลงทุนที่เป็นพิษในสินทรัพย์ที่มีชื่อย่อลึกลับ แต่ทุกวันนี้ปัจจัยเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโลกล้วนแต่เป็นชื่อที่คุ้นเคย ทั้งจีน การแพร่กระจายของวิกฤตในตลาดเกิดใหม่ การถอนตัวจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ของอังกฤษหรือเบร็กซิท และนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ

ในปี 2551 นับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ทำให้ผู้คนหลายสิบล้านสูญเสียบ้าน นำไปสู่การสูญเสียงานหลายล้านตำแหน่ง และมูลค่าความมั่งคั่งหายไปหลายล้านล้านดอลลาร์ ถึงตอนนี้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวแล้ว กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกจะโต 3.9% ในปีนี้และปีหน้า เป็นการยืนยันถึงการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งทั่วโลก แต่การที่สหรัฐอยู่ที่ศูนย์กลางของข้อพิพาทด้านการค้าหลายเรื่อง ทำให้ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกต้องเผชิญกับความท้าทาย

นายมอริซ ออฟท์เฟลด์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็มเอฟเตือนว่า “ความเสี่ยงด้านความตึงเครียดทางการค้าในปัจจุบันยกระดับขึ้นอีก และเป็นภัยคุกคามระยะสั้นที่ใหญ่ที่สุดต่ออัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลก”

กองทุนสำรองแห่งรัฐหรือธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ธนาคารกลางที่มีอำนาจมากที่สุดในโลก เตือนเรื่องนี้เช่นเดียวกันโดยระบุว่า “การยกระดับของข้อพิพาททางการค้าเป็นความเสี่ยงในด้านลบที่เป็นไปได้ว่าอาจเกิดขึ้นสำหรับกิจกรรมที่จะตามมา 

นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งในทำเนียบขาว นายทรัมป์ชูนโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” ด้วยการสลับสับเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางการค้าโดยการโจมตีคู่ค้าแบบไม่แยกแยะว่าเป็นพันธมิตรหรือศัตรู

หนึ่งในเป้าหมายหลักของนายทรัมป์คือความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือนาฟตา กับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเม็กซิโกและแคนาดาที่มีอายุยาวนานมาถึง 25 ปีว่า “ไม่คุ้มค่า” และเป็น “หายนะ” สำหรับสหรัฐ นายทรัมป์ยืนยันว่าจะขอเจรจาข้อตกลงนาฟตาใหม่ และเมื่อข้อตกลงในทางปฏิบัติอยู่ในมือ คำกล่าวแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์แคนาดา ประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของสหรัฐในทางที่ไม่ดี ได้ทำให้การเจรจาหยุดชะงักไป

นอกจากนี้นายทรัมป์ยังได้โจมตี (อียู) ว่าเป็นคู่แข่งในช่วงเวลาที่อียูเผชิญกับความไม่แน่นอนของเบร็กซิท และนายทรัมป์ยังได้เปิดศึกกับจีนด้วยการกำหนดกำแพงภาษีหลายระลอกเพื่อกดดันให้จีนยินยอมตามที่ตนต้องการ

ผลกระทบต่างๆ เริ่มรู้สึกได้ในจีน ประเทศที่มีขนาดของเขตเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก และหากความขัดแย้งยกระดับขึ้นจากนี้อีก อาจส่งผลกระทบเป็นทวีคูณต่อการลงทุน ซัพพลายเชนหรือห่วงโซ่อุปทานและความเชื่อมั่น

ด้านนายฌอง โคล้ด ตริเชต์ ชาวฝรั่งเศสที่ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ระหว่างปี 2546-2553 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลก ออกมาเตือนเรื่องนี้เช่นกันโดยระบุว่า หนี้สินที่สูงมากเกินไปทำให้ระบบการเงินโลกเปราะบางเหมือนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว