018-ธุรกิจไทย-ผลวิจัย-ส่วนแบ่งการตลาด

แบงก์ชาติวิจัย “ไม่แข่ง-ยิ่งแพ้” เมื่อบริษัทใหญ่ 5% ครองรายได้ 85%

อัปเดตล่าสุด 4 ต.ค. 2562
  • Share :
  • 916 Reads   

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดสัมมนาวิชาการประจำปี “BOT Symposium 2019” ภายใต้หัวข้อ “พลิกโฉมเศรษฐกิจ พิชิตการแข่งขัน Competitive Thailand” เมื่อวันที่ 30 ก.ย.-1 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยในงานมีการนำเสนอผลงานวิชาการทั้งจากสถาบันวิจัยและสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับธีม “การแข่งขัน” ซึ่งเป็นประเด็นหลักของงานสัมมนาวิชาการของ ธปท.ประจำปีนี้
 
การแข่งขันส่งผลดีระยะยาวต่อธุรกิจ

ในช่วงกล่าวเปิดงาน BOT Symposium 2019 “วิรไท สันติประภพ” ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวถึงการแข่งขันว่าเป็นกลไกสำคัญในการสร้างผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ การแข่งขันผลักดันให้ผู้ประกอบการทั้งรายเก่าและรายใหม่ต้องพัฒนาความสามารถของตนให้สูงขึ้น นำไปสู่ต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง คุณภาพผลิตภัณฑ์ที่สูงขึ้น และความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ที่มากขึ้น ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภคและสังคมโดยรวม และการแข่งขันจะส่งผลดีระยะยาวต่อธุรกิจ

“โดยเฉพาะในโลกปัจจุบันที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ถ้าระบบเศรษฐกิจในประเทศไม่มีการแข่งขันที่มากพอแล้ว ผู้ประกอบการอาจชะล่าใจ ไม่พัฒนาตนเองมากเท่าที่ควร ระบบนิเวศของการทำธุรกิจจะเฉื่อยชาและมีต้นทุนสูง ผู้ประกอบการจะขาดทักษะในการปรับตัวอย่างรวดเร็ว เมื่อถึงวันหนึ่งที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันซึ่งมาจากภายนอก หรือจากรูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ ผู้ประกอบการก็จะตั้งตัวไม่ทัน” วิรไทกล่าว

ผู้ว่าการ ธปท.ชี้ว่า การแข่งขันที่ดีจะต้องเป็นการแข่งขันที่เปิดกว้าง เป็นธรรม และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยปฏิเสธไม่ได้ว่าในหลายธุรกิจมีต้นทุนในการเข้าสู่ตลาดสูง ผู้ที่อยู่รอดมักเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีความได้เปรียบในด้านต่าง ๆ ในขณะที่ผู้ประกอบการรายย่อยหรือผู้ประกอบการรายใหม่ไม่สามารถเข้ามาแข่งได้ พร้อมชี้ว่า “ภาครัฐ” ในฐานะผู้กำหนดนโยบาย เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมและออกแบบให้เกิดการแข่งขันของธุรกิจอย่างเปิดกว้างและเป็นธรรม

ทุนใหญ่ 5% ครองรายได้เกือบทั้งระบบ

งานสัมมนาช่วงที่ 1 เป็นการนำเสนอผลงานวิชาการ “ไม่แข่ง ยิ่งแพ้ : อำนาจตลาดกับการยกระดับศักยภาพของธุรกิจ” ของ 4 นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ทศพล อภัยทาน, ชานนทร์ บรรเทิงหรรษา, อาชว์ ปวีณวัฒน์ และกฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ เป็นการฉายภาพโครงสร้างภาคธุรกิจและการแข่งขัน ที่มีนัยต่อระบบเศรษฐกิจผ่านข้อมูลงบการเงินบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดในประเทศ ระหว่างปี 2549-2559 ทั้งที่เป็นบริษัทจำกัดและบริษัทมหาชนจำกัด จำนวนกว่า 750,000 ราย ซึ่งพบว่า ภาคธุรกิจมีการกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มทุนไม่กี่ราย เนื่องจากบริษัทที่มีขนาดใหญ่ที่สุด 5% แรกของประเทศมีสัดส่วนรายรับสะสมสูงถึง 85% ของรายรับทั้งหมด โดยรูปแบบการกระจุกตัวดังกล่าวเกิดขึ้นมานานกว่า 10 ปีแล้ว นอกจากนี้ยังพบว่า กลุ่มทุนใหญ่สูงสุด 5% มีส่วนแบ่งยอดขายอยู่ที่ 46% และสัดส่วนกำไร 60% จากทั้งหมดอีกด้วย

พบว่าอายุเฉลี่ยของบริษัทมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อัตราการเกิดของบริษัทใหม่ และการตายของบริษัทที่มีอยู่เดิมมีแนวโน้มลดลงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่จากข้อมูลที่พบว่าธุรกิจไทยมีการกระจุกตัวสูง และมีพลวัตที่ลดลง ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าปรากฏการณ์เหล่านี้ส่งผลให้การแข่งขันของภาคธุรกิจในไทยลดลงด้วยหรือไม่ จึงทำให้อายุเฉลี่ยของบริษัทมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ธุรกิจไทยกระจุกตัวในทุกมิติ

นอกจากนี้ ข้อมูลส่งออกระหว่างปี 2549-2559 พบว่ามีมูลค่าถึง 70% ของจีดีพีประเทศไทย แต่มีเพียง 6% ของบริษัททั้งหมดที่ทำการส่งออก หมายความถึงความมั่งคั่งทางธุรกิจที่กระจุกตัวอยู่กับบริษัท 6% เท่านั้น ขณะเดียวกันพบว่า ผู้ส่งออกไทยส่วนใหญ่ส่งออกสินค้าที่มีความซับซ้อนต่ำ และมีเพียง 15% เท่านั้นที่ส่งออกสินค้าที่มีความซับซ้อนสูง

โดยสรุปภาคธุรกิจไทยที่ยึดครองและมีอำนาจตลาดกระจุกตัวสูงทั้งในมิติการผลิต การถือหุ้น การส่งออก ซึ่งหากการกระจุกตัวเกิดขึ้นจากที่บริษัทมีผลิตภาพสูง มีความสามารถขยายส่วนแบ่งตลาดโดยไม่มีการกีดกันคู่แข่งก็ถือว่าเป็นการกระจุกตัวที่ดี (superstar firms) แต่หากการมีอำนาจเหนือตลาดสูง มีส่วนแบ่งตลาดมาจากการกีดกันผู้เล่นใหม่ ๆ จะยิ่งทำให้โครงสร้างธุรกิจไทยมีความเหลื่อมล้ำมากขึ้น

ธุรกิจมีอำนาจตลาดสูง-แข่งขันต่ำ

นักวิจัยระบุว่า การกระจุกตัวของธุรกิจในอุตสาหกรรมอาจไม่สะท้อนว่าอุตฯ นั้นขาดการแข่งขันเสมอไป เช่น อุตสาหกรรมการบิน และอุตสาหกรรมน้ำอัดลม เป็นต้น ที่แม้จะมีการกระจุกตัวสูง จำนวนผู้ประกอบการไม่มาก แต่การแข่งขันก็สูงเช่นกัน โดยงานวิจัยชิ้นนี้ใช้วิธีการวัด “อำนาจตลาด” จากความสามารถในการตั้งราคาสินค้า และความสามารถในการกดราคาวัตถุดิบให้ต่ำเข้ามาประกอบ ซึ่งพบว่าอุตสาหกรรมที่มีอำนาจตลาดสูงสุดของไทยอยู่ในกลุ่มค้าปลีก ค้าส่ง ร้านอาหาร โรงแรม และผลิตอาหาร ตามลำดับ

นอกจากนี้ พบว่าอำนาจตลาดของธุรกิจไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังปี 2554 เป็นต้นมา ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการที่บริษัทขยายกิจการเพิ่มขึ้น และพบว่าบริษัทที่มีอำนาจตลาดสูงจะยิ่งหนุนให้มีอำนาจตลาดเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มบริษัทที่มีอำนาจตลาดสูง มีอำนาจตลาดมากกว่าเท่าตัว ของกลุ่มบริษัทที่มีอำนาจตลาดกลาง และบริษัทที่มีอายุมากมีแนวโน้มจะมีอำนาจตลาดมากกว่าบริษัทที่มีอายุน้อย

น่าห่วงว่าบริษัทที่มีอำนาจตลาดสูง กลับมีอัตราการเติบโตของผลิตภาพที่ต่ำกว่าบริษัทที่มีอำนาจตลาดน้อย เนื่องจากบริษัทที่มีอำนาจตลาดต่ำจะมีแรงจูงใจพัฒนาตนเองให้มีผลิตภาพสูงขึ้น ขณะที่ในบริษัทมีอำนาจตลาดสูงเกินไปขาดแรงจูงใจพัฒนาตนเอง เนื่องจากไม่ต้องเผชิญแรงกดดันจากการแข่งขัน

TDRI ชี้ฐานข้อมูลไม่ถึงธุรกิจนอกระบบ

อย่างไรก็ตาม “สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้แสดงความเห็นต่องานวิจัยดังกล่าวว่า บทความเน้นกล่าวถึงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจ เรื่องการกระจุกตัวของธุรกิจและอำนาจตลาด มีการพิจารณาในส่วนพฤติกรรมภาคธุรกิจน้อยมาก และไม่ได้กล่าวถึงนโยบายรัฐที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของภาคธุรกิจ นอกจากนี้ ยังละเลยที่จะพิจารณาถึงการแข่งขันจากผู้นำเข้า เช่น ธุรกิจเสื้อผ้าที่การผลิตอาจกระจุกตัวสูง แต่เมื่อต้องแข่งขันกับสินค้านำเข้า บทบาทของการผูดขาดก็อาจมีไม่มากหรือไม่น่ากังวลนัก

นอกจากนี้ การวิเคราะห์ที่ใช้ฐานข้อมูลของบริษัทที่จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า อาจไม่ครอบคลุมผู้ประกอบการที่อยู่นอกระบบ เช่น หากพิจารณาว่าธุรกิจโรงแรมมีการกระจุกตัวของอำนาจตลาดที่สูงจากฐานข้อมูลที่ใช้ ก็จะไม่สามารถนำธุรกิจนอกระบบอย่าง Airbnb เข้ามาวิเคราะห์ได้ เป็นต้น

“ผมคิดว่าการศึกษานี้ยังมีช่องว่างหลายตัว เช่น ที่ยังไม่มีคำอธิบายว่าทำไมบางธุรกิจจึงมีการกระจุกตัวมาก ทำไมบางธุรกิจจึงมีอำนาจตลาดมาก ทำไมงานวิจัยไม่พบปัญหาที่อาจทำให้คนชนชั้นกลางหมดเนื้อหมดตัว ซึ่งอย่างน้อยมี 2 ตัว คือ เรื่องการหาโรงเรียนดี ๆ ให้ลูก ซึ่งต้องแยกโรงเรียนรัฐ โรงเรียนเอกชน และโรงเรียนอินเตอร์ ที่ยังชาร์จค่าเทอมแพงมหาศาล  แต่การวิจัยนี้ไม่พบธุรกิจเหล่านี้ เพราะเอาตลาดโรงเรียนรวมเข้าด้วยกัน ตัวที่สอง ตลาดโรงพยาบาลพรีเมี่ยม ที่หากชนชั้นกลางเข้าใช้บริการสามารถหมดเนื้อหมดตัวได้ ก็ไม่พบรายงานการกระจุกตัวของธุรกิจเหล่านี้ในงานวิจัย” สมเกียรติกล่าว