กกร. ชี้ทิศทางเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ยังอยู่ในภาวะอ่อนแรงต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก

อัปเดตล่าสุด 4 ต.ค. 2562
  • Share :
  • 452 Reads   

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) แถลงภายหลังการประชุม กกร. ว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจในช่วงเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม บ่งชี้ว่าทิศทางเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/2562 ยังอยู่ในภาวะที่อ่อนแรงอย่างต่อเนื่องจากในช่วงครึ่งปีแรก โดยมีปัจจัยถ่วงหลักจากความเสี่ยงในภาคต่างประเทศ ทั้งเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ผลจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน และการแข็งค่าของเงินบาท ฉุดให้การส่งออกยังคงหดตัวเป็นวงกว้างทั้งในรายการสินค้าและตลาดส่งออกหลัก กระทบต่อภาคการผลิต ในขณะเดียวกัน แรงขับเคลื่อนภายในประเทศก็แผ่วตัวลงทั้งการบริโภคและการลงทุน มีเพียงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ขยายตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งจากผลของฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อน   

ภายใต้สถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจหลักในโลก, สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีนที่ยืดเยื้อ, ประเด็น Brexit และทิศทางเงินบาทที่แข็งค่า กกร. จึงปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของการส่งออกในปี 2562 มาที่ -2.0% ถึง 0.0% (จากเดิม -1.0% ถึง 1.0%)  

และแม้ภาครัฐจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายด้าน อาทิ มาตรการชิม ช้อป ใช้, มาตรการประกันรายได้สินค้าเกษตร, มาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย เป็นต้น แต่คาดว่าแรงบวกจะสามารถชดเชยผลกระทบจากหลายปัจจัยกดดันจากภายนอกประเทศได้บ้าง ที่ประชุม กกร. จึงปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2562 ลงมาเป็น 2.7-3.0% (จาก 2.9-3.3%)    

ทาง กกร.คาดหวังที่จะเห็นมาตรการเสริมจากภาครัฐเพิ่มเติม นอกเหนือไปจากการเร่งผลักดันกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ทั้งนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง เพื่อรับมือกับความท้าทาย โดยเฉพาะปัจจัยจากต่างประเทศ นอกจากนั้น เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ควรมีการเสนอราคาเป็นสกุลเงินบาทหรือสกุลเงินท้องถิ่น

กรอบประมาณการเศรษฐกิจปี 2562 ของ กกร. (ณ ต.ค. 62)
 

%YoY ปี 2561

ปี 2562

(ณ ก.ค. 62)

ปี 2562

(ณ ต.ค. 62)

GDP 4.1 2.9-3.3 2.7-3.0
ส่งออก 6.9 -1.0 ถึง 1.0 -2.0 ถึง 0.0
เงินเฟ้อ 1.1 0.8-1.2 0.8-1.2

 


ด้านผลกระทบจากภัยน้ำท่วม ซึ่งคาดว่าจะสร้างความเสียหายและกระทบต่อเศรษฐกิจ ประมาณ  20,000 – 25,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่ก็จะมีผลกระทบจากความเสียหายของบ้านเรือนและพื้นที่เกษตร

ทั้งนี้ จังหวัดอุบลราชธานีประสบปัญหาอุทกภัยรุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี จึงขอให้รัฐบาลดำเนินการช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วน เพื่อลดภาระและกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาสู่สภาพปกติโดยเร็ว ดังนี้

ขอให้องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น งดการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ทุกชนิด อาทิ ภาษีโรงเรือน ภาษีป้าย เป็นระยะเวลา 1 ปี แก่ผู้ประกอบการ SME ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย
ขอให้ภาครัฐพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมธนาคาร สำหรับ SME ที่ประสบอุทกภัยที่ยังมีภาระหนี้อยู่กับสถาบันการเงิน
ขอให้รัฐบาลสนับสนุนเงินทุนใหม่เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ให้มีเงินทุนหมุนเวียน ตลอดจนซ่อมแซมฟื้นฟูสถานประกอบการและเครื่องจักร โดยคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้คงที่ 1% หรือต่ำกว่า นาน 2 ปี

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โครงการ ชิม ช้อป ใช้ ได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นจำนวนมาก โดยมีการลงทะเบียนเต็ม 1 ล้านคนต่อวันอย่างรวดเร็ว และยังมีร้านค้าเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก ส่งผลให้โครงการนี้ประสบความสำเร็จ ภาคเอกชนยินดีช่วยประชาสัมพันธ์มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โครงการ ชิม ช้อป ใช้ ซึ่งคาดว่าจะโดยมีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ประมาณ 20,000 – 30,000 ล้านบาท สามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ประมาณ 0.1-0.2% 

โดย กกร.ขอเชิญชวนเข้าร่วมงาน Indo-Pacific Business Forum ครั้งที่ 2 ซึ่งจัดโดย หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกับ หอการค้าสหรัฐฯ หอการค้าอเมริกันในประเทศไทย และ สภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา – อาเซียน (U.S. ASEAN Business Council : USABC) ในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2562 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพค เมืองทองธานี ทั้งนี้ เพื่อเป็นเวทีในการส่งเสริมโอกาสการค้าและการลงทุน รวมถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และพัฒนาศักยภาพของประเทศในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก โดยภายในงานฯ จะมีการอภิปรายประเด็นสำคัญ อาทิ เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ความมั่นคงด้านพลังงาน (Energy Sustainability) และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Development) เป็นต้น

สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจอาเซียน (ASEAN Business Advisory Council : ASEAN-BAC) และ กกร. เป็นเจ้าภาพจัดงาน ASEAN Business & Investment Summit (ABIS) 2019 และงานประกาศผลและมอบรางวัล ASEAN Business Awards (ABA 2019) ระหว่างวันที่ 2-3 พฤศจิกายน 2562 ณ ฮอลล์ 6 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งเป็นการประชุมชั้นนำที่จัดคู่ขนานกับการประชุม ASEAN Summit โดยได้รับเกียรติจากผู้นำจากประเทศอาเซียนและ CEO บริษัทชั้นนำระดับโลกมาแสดงวิสัยทัศน์

ภาคเอกชน ขอขอบคุณรัฐบาลและกระทรวงการคลัง ที่ได้ผลักดันให้เกิดการจัดตั้งจุดรับคืนภาษี Downtown VAT Refund เป็นแบบถาวร  และขอให้เพิ่มจุดในการดำเนินการ VAT Refund ทั่วประเทศ ให้กับผู้ประกอบการ จากเดิมมีบริการเพียง 5 จุด

ขอบคุณภาครัฐที่ให้เอกชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการมาตรการป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้าง  อาทิ โครงการข้อตกลงคุณธรรม โครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ โดยคาดว่าภายในปีนี้รัฐจะสามารถลดการสูญเสียงบจากการคอร์รัปชันได้ถึง 142,769 ล้านบาท  

นอกจากนั้น กกร.ยินดีร่วมกับกระทรวงการคลัง ในการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหากฎระเบียบทางด้านภาษีที่เป็นอุปสรรค

และขอขอบคุณ กระทรวงพลังงาน ที่จะส่งเสริมให้มีโรงไฟฟ้าชุมชน และส่งเสริมให้มีการการผลิตไฟฟ้าพลังงานชีวมวล ตามที่เอกชนเสนอ ทั้งนี้ ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันเพื่อดูแลใน 3 ประเด็น ได้แก่ การสร้างพลังงานทดแทน การสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานและการประหยัดพลังงาน และการบริหารจัดการขยะพลาสติกเพื่อเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตพลังงาน

การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยกลไก BCG (Bioeconomy, Circular Economy, Green Economy) โดยภาคเอกชน เห็นด้วยกับรัฐบาลที่ให้ความสำคัญและนำแนวคิด BCG มาขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และยินดีที่สนับสนุนนโยบายนี้ โดย กกร. ได้มีการพิจารณาจัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน เพื่อผลักดันในประเด็นของ “Circular Economy” ต่อไป