“กรมเจรจาการค้า” เผยเอฟทีเอทำให้การค้าไทย-ญี่ปุ่นพุ่งในปี 2561 ขยายตัวกว่า 11%

อัปเดตล่าสุด 1 มี.ค. 2562
  • Share :
  • 811 Reads   

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า การค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ปี 2561 ขยายตัวเป็นที่น่าพอใจ โดยมูลค่าการค้ารวมอยู่ที่ 60,201.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 11.2 โดยส่งออกจากไทยไปญี่ปุ่น 24,941.9 ล้านเหรียญสหรัฐ และการนำเข้าจากญี่ปุ่น 35,259.6 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ผู้ประกอบการสามารถเลือกใช้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีศุลกากรจากความตกลงเอฟทีเอ ที่ไทยทำกับญี่ปุ่น 2 ฉบับ คือ

(1) ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) โดยญี่ปุ่นได้ลดภาษีศุลกากรให้ไทย เหลือร้อยละ 0 แล้ว ในสินค้า เช่น กุ้งสด กุ้งแปรรูป ผลไม้เมืองร้อน (ทุเรียน มะละกอ มะม่วง มะพร้าว) ผักและผลไม้แปรรูป ปลาปรุงแต่ง สิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม รองเท้าและเครื่องหนัง และอัญมณีเครื่องประดับ เป็นต้น และไทยได้ลดภาษีศุลกากรให้ญี่ปุ่นเหลือร้อยละ 0 แล้ว ในสินค้า เช่น ผลไม้เมืองหนาว เหล็กและผลิตภัณฑ์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น และ

(2) ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน – ญี่ปุ่น (AJCEP) ซึ่งญี่ปุ่นได้ยกเลิกภาษีศุลกากรให้ไทยในสินค้า เช่น ผักและผลไม้สดและแห้ง กุ้ง ปู หมึกยักษ์ กุ้งแปรรูป ผักกระป๋อง ซอสเครื่องแกง สิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม อัญมณีและเครื่องประดับ และชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า เป็นต้น และไทยลดภาษีศุลกากรให้ญี่ปุ่น เหลือร้อยละ 0 แล้วในสินค้า เช่น ผลไม้เมืองหนาว (เชอร์รี่ แอพริคอต พีช) อาหารทะเลกระป๋อง เส้นใยประดิษฐ์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยและญี่ปุ่นอยู่ระหว่างการพิจารณาทบทวนความตกลง JTEPA เพื่อเปิดตลาดสินค้าเพิ่มเติมในกลุ่มสินค้าที่ยังไม่ได้เปิดตลาดระหว่างกัน

จากการติดตามข้อมูลการใช้สิทธิประโยชน์ของเอฟทีเอทั้ง 2 ฉบับ ในปี 2561 พบว่า ไทยมีการส่งออกไปญี่ปุ่นโดยใช้สิทธิเอฟทีเอ 7,565.7 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 30.3 ของมูลค่าการส่งออกรวม ส่วนการนำเข้าจากญี่ปุ่นโดยใช้สิทธิเอฟทีเอ 8,313.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือร้อยละ 23.6 ของมูลค่าการนำเข้ารวม แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการไทยยังใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีทั้งสองฉบับไม่มากเท่าที่ควร จึงแนะให้ผู้ประกอบการไทยศึกษาเพื่อใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอ เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันให้มากขึ้น นอกจากนี้ ปัจจุบันญี่ปุ่นได้เข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยได้นำเสนอสินค้าและบริการที่มีศักยภาพสามารถแข่งขันได้ในตลาดญี่ปุ่น และอำนวยความสะดวกในการอุปโภคบริโภคของผู้สูงอายุ เช่น อาหารเพื่อสุขภาพ สินค้านวัตกรรมต่างๆ เป็นต้น

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 2 ของไทย โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปญี่ปุ่น เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เม็ดพลาสติก เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเครื่องโทรสาร โทรศัพท์และอุปกรณ์ เป็นต้น สินค้าส่งออกสำคัญของไทยที่มีการใช้สิทธิเอฟทีเอสูงเป็นอันดับต้นๆ ภายใต้ความตกลง JTEPA เช่น เนื้อไก่และเครื่องในไก่ที่ปรุงแต่ง เนื้อสัตว์ปีกแช่แข็ง กุ้งปรุงแต่ง แหนบรถยนต์ เป็นต้น และภายใต้ความตกลง AJCEP เช่น กุ้งปรุงแต่ง แผ่นแถบทำด้วยอะลูมิเนียมเจือ ปลาแมคเคอเรลปรุงแต่ง ปลาซาร์ดีนปรุงแต่ง เป็นต้น ขณะที่สินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากญี่ปุ่น เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น โดยสินค้านำเข้าที่มีการใช้สิทธิเอฟทีเอสูงเป็นอันดับต้นๆ ภายใต้ความตกลง JTEPA เช่น แผ่นเหล็กรีด เครื่องอัดลม (สำหรับเครื่องปรับอากาศ) แผ่นเหล็กชุบ/เคลือบ คะตะไลต์ เป็นต้น และภายใต้ความตกลง AJCEP เช่น โพลิเมอร์ของโพรพิลีน ฟอยล์อลูมิเนียม น้ำมันดิบ โพลิอะไมด์ ยารักษาหรือป้องกันโรค เป็นต้น

หากผู้ประกอบการนำเข้า-ส่งออกสินค้าต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถิติการค้า อัตราภาษีนำเข้า-ส่งออก กฎระเบียบทางการค้าการลงทุนของประเทศญี่ปุ่น หรือข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับความตกลงการค้าเสรี สามารถสืบค้นข้อมูลได้ทาง http://www.dtn.go.th/ และ http://ftacenter.dtn.go.th หรือสอบถามข้อมูลได้ที่ FTA Center ชั้น 3 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ Call Center หมายเลข 0 2507 7555 และทาง e-mail : [email protected]