สร้างความได้เปรียบจากการวิเคราะห์แรงขับเคลื่อนที่สำคัญ (ตอนที่ 3)

อัปเดตล่าสุด 30 พ.ค. 2562
  • Share :
  • 782 Reads   

สำหรับไตรมาสที่ 3 ของปี 2018 Asian Productivity Organization (APO) ได้ออกรายงาน Quarterly Emerging Trend Report ซึ่งในรายงานจะระบุถึงแรงขับเคลื่อนที่สามารถสร้างความแตกต่างและส่งผลต่อผลิตภาพ (Productivity) แรงขับเคลื่อนที่กล่าวมาทั้งหมดตั้งแต่ไตรมาสแรกจะเป็นข้อมูลสำคัญที่ทำให้ประเทศสมาชิกรวมทั้งประเทศไทยสามารถออกแบบ ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ได้อย่างครอบคลุมในทุกมิติและสามารถรับมือได้ในทุกสถานการณ์ หลายๆ แรงขับเคลื่อนเป็น Predetermined Force หรือเป็นแนวโน้มที่มีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้นค่อนข้างแน่นอนและสามารถคาดเดาผลได้ไม่ยาก การวิเคราะห์แรงขับเคลื่อนจะต้องพิจารณาต่อไปอีกว่า แรงนั้นยังอยู่ต่อเนื่องในรูปแบบเดิม ต่อเนื่องในรูปแบบใหม่ หรือจะหยุดในช่วงเวลาใด และผลกระทบที่เกิดขึ้นอยู่ในระดับใด ส่งผลรุนแรงมากน้อยแค่ไหน เมื่อทำเป็นตารางวิเคราะห์ความเป็นไปได้และผลกระทบได้แล้ว จะสามารถจัดอันดับความสำคัญในการจัดการได้ไม่ยาก เป็นเทคนิคง่ายๆ ในการวางแผนกลยุทธ์สมัยใหม่ที่ต้องให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง สำหรับแรงขับเคลื่อนที่มีความไม่แน่นอน หรือ Uncertainty Force เราต้องทำการวิเคราะห์ภาพเหตุการณ์จำลองอนาคต (Scenario Planning) เพื่อสร้างทางเลือกในการรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ซึ่งจะทำให้เราสามารถยังสร้างความได้เปรียบและรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันได้อย่างต่อเนื่อง

แรงขับเคลื่อนในไตรมาส 3 ที่ทาง APO ได้กล่าวไว้ อาทิเช่น ความสำคัญของปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ด้วยการที่ AI เชื่อมโยงกับเทคโนโลยีที่เรียกว่า Machine Learning ที่สามารถพลิกโฉมธุรกิจได้ไม่ยาก ยกตัวอย่างเช่น ทีมของ Google DeepMind ได้พัฒนา AI ที่จะทำให้เกิดการบริโภคพลังงานในจุดที่เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ทางเศรษฐศาสตร์จะเรียกจุดนี้ว่า optimization เป็นจุดที่ทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างเกิดคุณค่าสูงสุด ปราศจากการสูญเสียน้อยที่สุด ค่อนข้างเป็นแนวคิดมากกว่าที่จะปฏิบัติได้จริง แต่ AI ได้ทำให้เกิดสิ่งที่เราคิดว่าไม่น่าจะเป็นไปได้ให้เกิดขึ้นแล้ว สามารถลดการใช้พลังงานเพื่อระบายความร้อนได้ถึง 40% สูงกว่าที่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้เคยทำได้ ในแง่เศรษฐกิจของประเทศ รัฐบาลสามารถใช้ประโยชน์จาก AI ในการสร้างความได้เปรียบเชิงในเรื่องต่างๆ เช่น การช่วยให้สามารถชนะการเลือกตั้งได้อย่างถล่มทลาย การนำ AI มาใช้ในการปกป้องสมบัติของชาติ หรือการปรับปรุงบริการภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หลายๆ ประเทศทั่วโลกตอนนี้มีการวางแผนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับ AI โดยเฉพาะรวมถึงมีการวางแผนการลงทุนด้วยเม็ดเงินลงทุนขนาดใหญ่ โดยประเทศที่เป็นผู้นำในขณะนี้คือสหรัฐและจีน สำหรับประเทศไทย เราต้องเริ่มวางแผนกลยุทธ์และโรดแมพเพื่อสร้างความได้เปรียบในเทคโนโลยี AI โดยต้องให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญ อย่างเช่น ภาคอุตสาหกรรมและภาคการศึกษาเข้ามามีส่วนร่วม พยายามผลักดันให้เกิดการพัฒนาและการประยุกต์ใช้ AI ในวงกว้างไม่จำกัดอยู่ในส่วนกลางหรือยังอยู่ในรูปของนโยบาย โดยรัฐจะต้องสร้างความมั่นใจในระบบการปกป้องข้อมูลและความปลอดภัยทางไซเบอร์ไปพร้อมๆ กันด้วย รวมถึง การมองถึงการลงทุนระยะยาวในภาคการศึกษาและการเร่งปรับทักษะแรงงานให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลง โดยการดำเนินการในเริ่มต้นควรระบุเจ้าภาพและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการแบ่งหน้าที่การทำงานและกำหนดเป้าหมายได้อย่างชัดเจน

 

แรงขับเคลื่อนตัวต่อไปคือ เมื่อเทคโนโลยีเข้ามาปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน (Tech Augmented Workforce) เราคงปฏิเสธพลังของอินเทอร์เน็ตที่ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวไทย สำหรับคนบางกลุ่มสิ่งนี้ได้กลายเป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพไปแล้ว แต่ก็ไม่ได้ผิดอะไร เพราะอินเทอร์เน็ตเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกและทำให้ชีวิตเราง่ายขึ้น ด้วยการเชื่อมต่อข้อมูลพลังสูงอย่าง 5G ที่เป็น High Speed Data Connection ที่เพียงพอสำหรับเทคโนโลยีในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานจึงมีให้เห็นมากขึ้น เช่น Alternative Working Space, On-line Work Platform, Real-time Collaboration, Project management On-line แล้วแต่จะตั้งชื่อแต่ที่เหมือนกันคือเราสามารถทำงานที่ไหนก็ได้ เวลาไหนก็ได้ หลายๆ องค์กร มีการปรับวิธีการประเมินพนักงานเป็นแบบ OKR หรือ Objective Key Results โดยจะมีการตั้งเป้าหมายตัวชี้วัดอย่างชัดเจน และยังสามารถปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ทำให้มีความยืดหยุ่นสูง เหมาะสมกับรูปแบบการทำงานแบบ Tech Augmented Workforce นอกจากนี้ในสิงคโปร์และสหรัฐอเมริกา มีการใช้เทคโนโลยี VR และ AR (Virtual and Augmented Reality) เพื่อให้เกิดความรู้สึกเหมือนทำงานอยู่ในที่ทำงานมากขึ้น ทำให้วัฒนธรรมและทัศนคติในการทำงานเปลี่ยนไปเกิดประเภทแรงงานที่เป็น On-call worker หรือแรงงานสัญญาจ้างที่เป็นชั่วคราว (Temp) หรืออาชีพอิสระอย่าง Freelancers จำนวนมากและกำลังเป็นเทรนด์ในปัจจุบัน ในมุมมองของ  ผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity) หากเทรนด์นี้แพร่หลายในองค์กรไทย จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งต่อการ  วัดผลิตภาพแรงงานและการพัฒนาทักษะแรงงาน เราจะทำอย่างไรให้การเปลี่ยนแปลงนี้ไปในทิศทางที่ดีและส่งผลบวกต่อประเทศ ก่อนอื่นเราต้องมีข้อมูลที่สามารถระบุถึงกลุ่มประชากรที่เป็น Alternative Workforce ข้างต้นก่อน เพื่อที่จะออกนโยบายสวัสดิการ การเก็บภาษีเงินได้ที่เหมาะสม รวมถึงการกำหนดแนวทางการพัฒนาความสามารถเพื่อให้บุคคลเหล่านี้สร้างประโยชน์ต่อประเทศชาติมากขึ้น นอกจากนี้ต้องสร้างกรอบกฎระเบียบการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสนับสนุนการทำงานแบบ Tech Augmented Workforce โดยไม่ยึดติดกับกรอบกฎระเบียบเดิมเพื่อให้เกิดการต่อยอดได้เร็ว การให้ความสำคัญกับการให้เพิ่มพูนความรู้ ความสามารถในการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีตลอดทุกช่วงวัย และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูล 4G, 5G และ…ให้สามารถเข้าถึงได้ง่ายอย่างเท่าเทียมกัน จาก 2 แรงขับเคลื่อนข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างที่พยายามชี้ในเห็นถึงการสร้างความได้เปรียบจากการวิเคราะห์แรงขับเคลื่อนที่สำคัญโดยพยายามมองถึงผลกระทบและมองหาวิธีการรับมือ การได้มาซึ่งประเด็นในการทำ Action Plan ข้างต้นมีขั้นตอนและลำดับการคิด ไม่ได้นึกขึ้นมาเฉยๆ และถ้ามีโอกาสจะมาเล่าให้ฟังในครั้งหน้า

สนับสนุนบทความโดย: สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ www.ftpi.or.th