จับตา BRICS โอกาสและความท้าทายของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทย

จับตา BRICS โอกาสและความท้าทายของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทย

อัปเดตล่าสุด 19 พ.ค. 2568
  • Share :

ไทยเข้าร่วมเป็นประเทศคู่ค้ากับกลุ่ม BRICS ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2025 ขยายโอกาสการค้าและลงทุน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ขณะเดียวกันยังต้องรักษาสมดุลกับกลุ่ม OECD ที่กำลังสมัครสมาชิก

จากการที่เศรษฐกิจโลกมีการขยายตัวอย่างจำกัด รวมทั้งระบบการค้าระหว่างประเทศและองค์กรระหว่างประเทศส่วนใหญ่ยังถูกควบคุมโดยประเทศที่พัฒนาแล้ว หลากหลายประเทศที่เริ่มมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่โดดเด่นและรวดเร็วจึงต้องการร่วมมือกันเพื่อสร้างอำนาจที่สามารถแข่งขันกับประเทศที่พัฒนาแล้วได้ ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดการจัดตั้งกลุ่มประเทศบริกส์ (BRICS) ขึ้นมา ซึ่งการจัดตั้งกลุ่มดังกล่าวทำให้ประเทศสมาชิกสามารถมีบทบาทในเรื่องการพัฒนา การกำหนดทิศทางทางการเมือง และการสร้างระบบการเงินใหม่ที่ตอบสนองต่อความต้องการของประเทศได้ดียิ่งขึ้น

BRICS คืออะไร สำคัญอย่างไร

กลุ่ม BRICS คือ การรวมตัวของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่มีศักยภาพสูง ประกอบด้วยบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ โดยชื่อ "BRICS" มาจากตัวอักษรย่อของชื่อประเทศเหล่านี้ กลุ่มนี้ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกในปี 2001 โดยปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 10 ประเทศ ได้แก่ รัสเซีย บราซิล จีน อินเดีย แอฟริกาใต้ อิหร่าน อียิปต์ เอธิโอเปีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอินโดนีเซีย มีเป้าหมายแบ่งเป็น  3 เสา ได้แก่ 1. เสาด้านการเมืองและความมั่นคง 2. เสาด้านเศรษฐกิจและการเงิน และ 3. เสาด้านมนุษยธรรมและวัฒนธรรม เพื่อสร้างความสมดุลในการกระจายอำนาจทางเศรษฐกิจจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว นอกจากนี้ BRICS ยังมองหาทางเลือกใหม่ในการชำระเงินระหว่างประเทศ ซึ่งจะได้ไม่ต้องพึ่งพาการเงินและนโยบายของตะวันตกอย่างดอลลาร์สหรัฐ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากชาติตะวันตก โดยกลุ่ม BRICS มีแนวคิดเกี่ยวกับการสร้างสกุลเงินใหม่เพื่อลดการพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐและยูโร สาเหตุหลักที่กลุ่ม BRICS พิจารณาการสร้างสกุลเงินใหม่นั้น เนื่องมาจากความท้าทายทางการเงินระดับโลกและนโยบายต่างประเทศที่เข้มงวดของสหรัฐฯ ซึ่งสมาชิกในกลุ่มเชื่อว่าสกุลเงินใหม่นี้จะส่งเสริมประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตนเองได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งยังลดความผันผวนจากการใช้ดอลลาร์สหรัฐเป็นเกณฑ์กลางในตลาดการค้าโลก

ภาพรวมของการค้าสินค้าในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างประเทศสมาชิกกลุ่ม BRICS

เมื่อพิจารณาภาพรวมของการค้าสินค้าในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างประเทศสมาชิกกลุ่ม BRICS พบว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2019-2024) กลุ่ม BRICS มีการนำเข้าจากประเทศสมาชิกเทียบกับการนำเข้าทั้งหมดของกลุ่ม BRICS จากทั่วโลกไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 25% แสดงให้เห็นว่ากลุ่ม BRICS มีการพึ่งพาการค้ากันภายในกลุ่ม ซึ่งสะท้อนถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศสมาชิก และในปี 2024 ที่ผ่านมา กลุ่ม BRICS มีการนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากประเทศสมาชิกมูลค่า 235,789 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการนำเข้าจากจีนในสัดส่วนที่สูงถึง 93% สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของจีนในฐานะศูนย์กลางการผลิตและการส่งออกสินค้าในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของภูมิภาค

ในขณะที่ ด้านการส่งออกสินค้าในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างประเทศสมาชิกกลุ่ม BRICS ในปี 2024 พบว่า กลุ่ม BRICS มีการส่งออกสินค้าดังกล่าวไปยังประเทศสมาชิกมูลค่า 159,399 
ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับการส่งออกทั้งหมดของกลุ่ม BRICS ไปทั่วโลก สะท้อนให้เห็นว่า ประเทศสมาชิกกลุ่ม BRICS ยังคงให้ความสำคัญกับการส่งออกไปประเทศนอกกลุ่มมากกว่า ประกอบกับแนวโน้มการส่งออกสินค้าภายในกลุ่ม BRICS มีทิศทางที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา 
(ปี 2019-2024) สัดส่วนการส่งออกสินค้าในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไปยังประเทศสมาชิกเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 9 ในปี 2019 เป็นร้อยละ 12 ในปี 2024 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเติบโตของความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานภายในกลุ่ม โดยมีจีนเป็นประเทศผู้ส่งออกหลัก

ในอนาคต หากประเทศสมาชิกกลุ่ม BRICS มีการพึ่งพาอาศัยกันภายในกลุ่มมากขึ้น ก็จะช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าสินค้าในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จากประเทศนอกกลุ่มได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าวงจรรวมซึ่งเป็นสินค้าที่ประเทศสมาชิกกลุ่ม BRICS มีการนำเข้าจากประเทศนอกกลุ่มสูงสุด โดยประเทศสมาชิกกลุ่ม BRICS สามารถนำเข้าสินค้าวงจรรวมจากจีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายสำคัญในอุตสาหกรรมได้ อันเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับเป้าหมายในการส่งเสริมเศรษฐกิจภายในกลุ่มและเสริมสร้างความมั่นคงทางอุตสาหกรรมในระยะยาว

ทั้งนี้ ไทยที่ถือเป็นประเทศกำลังพัฒนาและมีความเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกประเทศคู่ค้าของ BRICS อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2025 ที่ผ่านมา ซึ่งการเข้าร่วมครั้งนี้จะเป็นการเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจให้ไทย โดยเฉพาะด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมบทบาทของไทยในกรอบความร่วมมือพหุภาคี รวมถึงแสดงความพร้อมที่จะเป็นสะพานเชื่อมระหว่างกลุ่ม BRICS กับกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศต่าง ๆ ที่ไทยมีบทบาทสำคัญ เช่น อาเซียน (ASEAN) และเอเปค (APEC) เป็นต้น

การค้าในสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างไทยและประเทศสมาชิกกลุ่ม BRICS

เมื่อพิจารณาภาพรวมของการค้าสินค้าในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างไทยและประเทศสมาชิกกลุ่ม BRICS ในช่วงปี 2019 - 2024 พบว่า การนำเข้าสินค้าของไทยจากกลุ่ม BRICS มีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ที่ร้อยละ 9.43 หรือมีมูลค่าการนำเข้าจาก 18,821 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2019 เพิ่มขึ้นเป็น 32,311 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2024 โดยมีจีนเป็นคู่ค้าหลัก ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดมากถึงร้อยละ 97 ในขณะที่ การส่งออกสินค้าดังกล่าวของไทยไปกลุ่ม BRICS มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ร้อยละ 4.31 หรือมีมูลค่าการส่งออกจาก 8,875 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2019 เพิ่มขึ้นเป็น 11,430 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2024 โดยมีจีนเป็นคู่ค้าหลักเช่นกัน ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดร้อยละ 54 จากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า แม้ว่าภาพรวมการค้าระหว่างไทยและประเทศสมาชิกกลุ่ม BRICS จะมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่การค้าส่วนใหญ่ยังคงกระจุกตัวอยู่ที่จีน ขณะที่มูลค่าการค้ากับสมาชิกอื่น ๆ ในกลุ่ม BRICS ยังไม่สูงมากนัก อย่างไรก็ตาม ประเทศเหล่านี้ยังมีศักยภาพในการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่งในระยะยาวอาจเปิดโอกาสให้ไทยเพิ่มบทบาททางการค้าและขยายตลาดส่งออกได้มากขึ้น

หากพิจารณาสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ไทยนำเข้าจากประเทศสมาชิกกลุ่ม BRICS ในปี 2024 พบว่า ไทยนำเข้าสินค้าเครื่องโทรศัพท์และอุปกรณ์มากเป็นอันดับ 1 (มูลค่า 3,719 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และนำเข้าสินค้าเครื่องคอมพิวเตอร์และวงจรพิมพ์มากเป็นอันดับถัดมา ขณะที่ด้านการส่งออก พบว่า ไทยส่งออกสินค้าส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์มากเป็นอันดับ 1 (มูลค่า 1,737 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และส่งออกสินค้าเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องจักรมากเป็นอันดับถัดมา

ไทยได้ประโยชน์อะไรจากการเข้าร่วมเป็นประเทศคู่ค้าของ BRICS

การเข้าร่วมเป็นประเทศคู่ค้าของ BRICS นับเป็นเป้าหมายสำคัญของไทย โดยหอการค้าไทยประเมินว่า บทบาทของกลุ่ม BRICS มีความน่าสนใจและถือเป็นการจับขั้วกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาใหม่ที่จะเข้ามามีอำนาจในเวทีเศรษฐกิจโลกมากขึ้น โดยเฉพาะการเริ่มใช้สกุลเงินของตัวเองหรือกลไกทางเศรษฐกิจที่ไม่ต้องพึ่งพาสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งการที่ไทยเข้าร่วมเป็นประเทศคู่ค้าของ BRICS อาจทำ ให้ไทยได้รับประโยชน์ ดังนี้

การเข้าร่วม BRICS ของไทย จะช่วยให้เกิดการกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจจากความผันผวนของปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) โดยลดการพึ่งพาตลาดเดิม เช่น สหรัฐฯ และยุโรป และเพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าไปยังตลาดเกิดใหม่ เช่น อินเดียและแอฟริกาได้ ซึ่งมีศักยภาพการเติบโตของตลาดสูง

เป็นโอกาสของไทยในการขยายตลาดสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูง เนื่องจากความต้องการสินค้าเกษตร อาหาร และสินค้าเทคโนโลยีในประเทศ BRICS ยังคงสูง ซึ่งผู้ประกอบการไทยสามารถนำเสนอสินค้าและบริการที่เน้นคุณภาพและนวัตกรรม เช่น สินค้าอาหารเพื่อสุขภาพ เทคโนโลยีทางการเกษตร และบริการด้านสุขภาพ เป็นต้น

หากในอนาคต BRICS สามารถพัฒนาไปสู่การใช้สกุลเงินของตัวเองหรือการค้าด้วยสกุลเงินท้องถิ่นมากขึ้น ผู้ประกอบการไทยอาจลดต้นทุนจากความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ และสามารถใช้กลไกทางการเงินที่เอื้อต่อธุรกิจมากขึ้น

ทั้งนี้ ไทยยังคงเป็นเพียงประเทศคู่ค้าของ BRICS ดังนั้น ไทยอาจมีข้อจำกัดที่แตกต่างจากการเป็นประเทศสมาชิก ได้แก่ สิทธิออกเสียงในการกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจ การเงิน และมีข้อจำกัดในการเข้าถึงเงินช่วยเหลือจากกองทุนสำรองฉุกเฉิน (Contingency Reserve Arrangement: CRA) อย่างไรก็ตาม แม้ไทยจะเป็นเพียงประเทศคู่ค้าแต่ก็จะได้รับโอกาสในความร่วมมือในด้านต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น เช่น การค้า การลงทุน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น

ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ผลิตและผู้บริโภคในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เมื่อไทยเป็นประเทศคู่ค้าของ BRICS 

การที่ไทยเข้าร่วมเป็นประเทศคู่ค้ากับกลุ่ม BRICS อาจส่งผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบต่อผู้ผลิตและผู้บริโภคในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทย ดังนี้

ผลกระทบต่อผู้ผลิต

🎯ผลกระทบเชิงบวก

  • กลุ่ม BRICS ประกอบด้วยประเทศที่มีประชากรจำนวนมากและกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่สำหรับสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทย การเป็นประเทศคู่ค้ากับกลุ่ม BRICS อาจช่วยลดอุปสรรคทางการค้าและสนับสนุนการขยายตัวของการส่งออก แม้ว่าปัจจุบันมูลค่าการค้ากับบางประเทศในกลุ่ม BRICS จะยังไม่สูงมากนัก แต่ด้วยศักยภาพทางเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไทยมีโอกาสขยายตลาดและเพิ่มมูลค่าการค้าได้ในอนาคต
  • เนื่องจากกลุ่ม BRICS มีประเทศสมาชิกบางประเทศ เช่น จีน ที่มีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและทันสมัย ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยในการเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ จากประเทศเหล่านี้ได้ 
  • ผู้ผลิตไทยสามารถสร้างโอกาสในการร่วมมือกับบริษัทต่างชาติในการวิจัยและพัฒนา การผลิต และการตลาด ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถ่ายทอดเทคโนโลยีและความรู้จากประเทศในกลุ่ม BRICS เช่น จีน ที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

🎯ผลกระทบเชิงลบ

  • การเปิดตลาดมากขึ้นจะทำให้เกิดการแข่งขันจากผู้ผลิตต่างชาติที่รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะจากจีนซึ่งมีศักยภาพในการผลิตสูงและต้นทุนต่ำอาจส่งผลกระทบกับผู้ผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยในการแข่งขันด้านราคา
  • นื่องจากกลุ่ม BRICS ยังคงมีความผันผวนทางด้านเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งอาจทำให้ผู้ผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยต้องเผชิญความเสี่ยงจากนโยบายการค้าหรือกฎหมายระหว่างประเทศของสมาชิกกลุ่ม BRICS ได้

ผลกระทบต่อผู้บริโภค

🎯ผลกระทบเชิงบวก

  • ผู้บริโภคมีตัวเลือกในการซื้อสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่หลากหลายขึ้นทั้งในด้านคุณภาพและราคา รวมทั้งสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่อาจไม่มีในตลาดไทย
  • การแข่งขันจากผู้ผลิตต่างชาติ โดยเฉพาะจากประเทศจีนซึ่งมีศักยภาพในการผลิตสูงและต้นทุนต่ำ อาจส่งผลให้ราคาสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์บางประเภทถูกลง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคที่สามารถเลือกซื้อสินค้าในราคาที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น

🎯ผลกระทบเชิงลบ

  • เมื่อผู้บริโภคมีการเลือกซื้อสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จากประเทศกลุ่ม BRICS อาจทำให้ผู้บริโภคไทยได้รับบริการหลังการขายที่แตกต่างจากการซื้อสินค้าที่ผลิตในประเทศ เช่น การแก้ไขปัญหาของสินค้า การซ่อมบำรุงสินค้า เป็นต้น 
  • แม้ว่าผู้บริโภคจะสามารถเลือกซื้อสินค้าในราคาที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้นและมีตัวเลือกในการเลือกซื้อที่หลากหลายขึ้น แต่ก็อาจจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงการไหลของสินค้าจากจีนเข้าสู่ตลาดไทยด้วย

 

สรุป

การเสริมสร้างความร่วมมือภายในกลุ่ม BRICS จะช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จากภายนอก โดยเฉพาะสินค้าวงจรรวมที่สามารถนำเข้าจากจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตรายสำคัญภายในกลุ่มได้ โดยเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับเป้าหมายในการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่ม อย่างไรก็ตาม การที่จีนเป็นผู้ส่งออกหลักภายในกลุ่ม BRICS อาจนำไปสู่ความเสี่ยงทางการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศสมาชิก และอาจส่งผลกระทบต่อโอกาสทางการค้าของประเทศนอกกลุ่ม BRICS รวมถึงไทย ในการขยายตลาดสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไปยังกลุ่ม BRICS และหากกลุ่ม BRICS มีการให้สิทธิประโยชน์ทางการค้าที่เอื้อต่อประเทศสมาชิกด้วยกันเองมากกว่า ก็อาจกลายเป็นอุปสรรคต่อการเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการไทยในอนาคต แม้ว่าปัจจุบันไทยจะเข้าร่วมเป็นประเทศคู่ค้าของกลุ่ม BRICS แล้วก็ตาม

ดังนั้น ภาครัฐไทยจึงควรเร่งขยายเครือข่ายความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับพหุภาคีกับประเทศสมาชิก BRICS สนับสนุนการลงทุนจากบริษัทต่างชาติ เช่น BOI ควรมีการส่งเสริมการลงทุนหรือการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับบริษัทต่างชาติที่อยู่ในกลุ่มประเทศของ BRICS ตลอดจนภาคเอกชนต้องเร่งยกระดับและเสริมสร้างศักยภาพด้านนวัตกรรม เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงตลาดและลดความเสี่ยงจากการผูกขาดทางการค้าของจีนกับกลุ่ม BRICS ในระยะยาว

ท้ายที่สุดนี้ การที่ไทยเข้าร่วมเป็นประเทศคู่ค้าของกลุ่ม BRICS และในขณะเดียวกันไทยก็มีสถานะเป็นประเทศผู้สมัครที่อยู่ในกระบวนการเข้าเป็นสมาชิกขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ไทยจึงต้องคำนึงถึงการรักษาสมดุลระหว่างความสัมพันธ์กับประเทศสมาชิกของทั้งสองกลุ่ม เนื่องจากทั้งสองกลุ่มนี้มีลักษณะและเป้าหมายที่แตกต่างกัน เพื่อรักษาผลประโยชน์ทางการค้าและการส่งออกสินค้าในอนาคตต่อไปได้


     

บทความนี้จัดทำโดย

แผนกนโยบายและแผน ศูนย์ข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (E&E Intelligence Unit: EIU) สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (EEI)

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / X / YouTube @MreportTH