CHIPS for America Act, กฎหมาย CHIPS Act, CHIPS and Science Act, CHIPS Act of 2022, EEI สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, Creating Helpful Incentives to Produce Semiconductors for America Act

กฎหมายสนับสนุนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐอเมริกา CHIPS for America Act

อัปเดตล่าสุด 24 พ.ค. 2566
  • Share :
  • 2,552 Reads   

Creating Helpful Incentives to Produce Semiconductors for America Act หรือ CHIPS and Science Act หรือ CHIPS Act of 2022 เป็นกฎหมายฉบับใหม่ของสหรัฐฯ ในการเสริมสร้างการผลิต การออกแบบ และการวิจัย อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ภายในประเทศ และยังรวมถึงเป็นการเสริมสร้างเศรษฐกิจ ความมั่นคงของชาติและซัพพลายเชนชิปของสหรัฐฯอีกด้วย

เซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) หรือ ไมโครชิป หรือ ชิป เปรียบเสมือนสมองและหัวใจของเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่ทำหน้าที่สั่งการทำงานของอุปกรณ์ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่เครื่องมือสื่อสาร สมาร์ทโฟน แท็บแล็ต เครื่องคอมพิวเตอร์ ยานยนต์ ไปจนถึงการผลิตดาวเทียม นอกจากนั้นยังรวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analysis) เทคโนโลยีหุ่นยนต์ (Robotics) เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) และเครือข่ายโทรคมนาคมระบบ 5G ดังนั้น หากปราศจากตัวเซมิคอนดักเตอร์ สิ่งของเหล่านี้ก็จะไม่สามารถใช้งานได้เลย จึงเกิดเป็นปรากฏการณ์ความต้องการเซมิคอนดักเตอร์จากทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีท่าทีว่าจะสูงขึ้นต่อไปเรื่อยๆ เนื่องจาก เครื่องมือหรืออุปกรณ์ในยุคปัจจุบันล้วนถูกออกแบบมาเพื่อให้สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้ ผนวกรวมกับเหตุการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่ส่งผลให้วิถีการดำเนินชีวิตของคนเปลี่ยนแปลงไปก็ได้เข้ามาเป็นปัจจัยเร่งให้ความต้องการอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ยิ่งเพิ่มสูงขึ้นไปในทุกอุตสาหกรรม ทำให้เกิดการขาดแคลนชิปอย่างรุนแรงและไม่มีท่าทีว่าจะกลับไปเป็นเหมือนดังก่อน ส่งผลให้ราคาชิปปรับตัวสูงขึ้นและรวมไปถึงราคาสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และสินค้าอื่นๆ ที่ต้องพึ่งพาชิปก็ได้รับผลกระทบกันเป็นวงกว้าง

ที่ผ่านมาสหรัฐฯ เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของโลกมาโดยตลอด โดยมีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 47 ของยอดขายทั่วโลก (ข้อมูล ณ ปี 2019) 1 แต่ต่อมาด้วยนโยบายการสนับสนุนจากภาครัฐของประเทศในภูมิภาคเอเชีย กอปรกับการดำเนินธุรกิจแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตลอดจนปัจจัยจากแรงงานต้นทุนต่ำและการเข้าถึงวัตถุดิบต่าง ๆ ได้ง่าย ส่งผลให้บริษัทผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในภูมิภาคเอเชีย อาทิ Toshiba (ญี่ปุ่น) Samsung (เกาหลีใต้) และ TSMC (ไต้หวัน) เติบโตและมีบทบาทมากขึ้นในเวทีอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของโลก โดยเฉพาะการรับจ้างผลิต การประกอบสินค้าสำเร็จรูป และการทดสอบผลิตภัณฑ์ 

1 กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้  กระทรวงการต่างประเทศ

ซึ่งร้อยละ 80 ของกิจกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียทั้งสิ้น ทำให้สหรัฐฯ ต้องพึ่งพาการนำเข้าชิปจากต่างชาติเป็นจำนวนมาก เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการใช้ภายในประเทศ และยังรวมถึงการแข่งขันด้านเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ และจีน (Tech War) ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ส่วนแบ่งการตลาดของชิปที่ผลิตในสหรัฐฯ ลดเหลือเพียง ร้อยละ 12 ของทั้งโลก ซึ่งสอดคล้องกับที่ Semiconductor Industry Association หรือ SIA ระบุว่าปัจจุบันอันดับการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐฯ อยู่ในอันดับ 5 ของโลก และใน 10 บริษัทที่เป็นผู้ผลิตชิปและมีมูลค่าหลักทรัพย์มากที่สุดในโลกยังเป็นของสหรัฐฯ ถึง 7 แห่ง ทั้งที่เทคโนโลยีนี้มีต้นกำเนิดมาจากสหรัฐอเมริกา 2

2 forbesthailand.com/world/America/

CHIPS for America Act, กฎหมาย CHIPS Act, CHIPS and Science Act, CHIPS Act of 2022, EEI สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, Creating Helpful Incentives to Produce Semiconductors for America Act

ที่มา: forbesthailand.com

เซมิคอนดักเตอร์จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการชิงความได้เปรียบระหว่างสหรัฐฯ และจีน โดยทั้งสองประเทศต่างก็พยายามเข้าครอบครองห่วงโซ่การผลิตเซมิคอนดักเตอร์ให้ได้ เพื่อขึ้นเป็นผู้นำและควบคุมทิศทางของเทคโนโลยีในอนาคต จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ออกกฎหมาย CHIPS for America Act เพื่อดึงดูดการตั้งโรงงานและการผลิตชิปกลับเข้ามาในประเทศ 

และนอกจากนั้นแล้วเทคโนโลยีของชิปถือว่ามีความสำคัญทางยุทธศาสตร์อย่างมากสำหรับเศรษฐกิจและความมั่นคงของสหรัฐฯ รัฐสภาสหรัฐฯ จึงผ่านรัฐบัญญัติ CHIPS Act ออกมาเพื่อเป็นการอนุมัติให้ใช้มาตรการสนับสนุนช่วยเหลืออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และเปิดทางให้เกิดการลงทุนก่อสร้างโรงงานใหม่ๆ ในสหรัฐฯ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ได้จัดสรรงบประมาณเป็นจำนวน 52,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเป็นเงินช่วยเหลือและเงินกระตุ้นอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และสิทธิ์ลดหย่อนภาษี 25% สำหรับบริษัทที่ลงทุนในโรงงานผลิตชิปในสหรัฐฯ และกำหนดให้เพิ่มงบในโครงการวิจัยเป็นเงินราว 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงอีก 10 ปีนี้ด้วย

 

มาตรการช่วยเหลือทางการเงินประกอบด้วย

  • 50,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่จะจัดสรรภายในระยะเวลา 5 ปี เพื่อขยายศักยภาพของอุตสาหกรรมการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ภายในสหรัฐฯ ให้เงินทุนในการวิจัยและพัฒนา และสนับสนุนโปรแกรมการพัฒนาแรงงาน โดยในจำนวนนี้ 39,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จะจัดสรรให้แก่การผลิตชิปซึ่งใช้อยู่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ กลาโหม และอุตสาหกรรมสำคัญอื่นๆ และอีก 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการวิจัยและพัฒนาตลอดจนการพัฒนากำลังแรงงาน
  • 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการวิจัยและพัฒนาซึ่งเกี่ยวข้องกับชิปที่ใช้ด้านกลาโหม และการฝึกอบรมกำลังแรงงานด้านเซมิคอนดักเตอร์ใช้ในด้านกลาโหม
  • 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อการร่วมมือประสานงานกับพวกรัฐบาลต่างประเทศ ในการสนับสนุนข้อมูลข่าวสารและความมั่นคงปลอดภัยของห่วงโซ่อุปทานด้านเซมิคอนดักเตอร์ การสื่อสารโทรคมนาคม ตลอดจนเทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างอื่นๆ
  • 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อการศึกษาอบรมผู้คนในเรื่องทักษะต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการทำงานในโรงงานและในสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ซึ่งสร้างขึ้นมาด้วยมาตรการจูงใจอุดหนุนอุตสาหกรรมการผลิต ทั้งนี้ประมาณการกันเอาไว้ว่า อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จำเป็นจะต้องได้คนงานที่ผ่านการฝึกอบรมแล้วเพิ่มขึ้นอีกราว 90,000 คนภายในปี 2025

ซึ่งจากมาตรการนี้สามารถดึงดูดให้บรรดาบริษัทเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ที่ไปลงทุนสร้างโรงงานผลิตชิปและ Supply Chain ในประเทศอื่นโดยเฉพาะในประเทศจีนกลับมาลงทุนในสหรัฐฯ และยังจะดึงผู้ผลิตชิปของประเทศอื่นเข้ามาลงทุนผลิตชิปในสหรัฐฯ ด้วย ตัวอย่างเช่น

- Micron Technology ประกาศที่จะลงทุนมากถึง 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กับโรงงานใหม่ในเมือง Clay รัฐนิวยอร์ก ซึ่งถือเป็นโรงงานผลิตชิปของตัวเองล่าสุดในสหรัฐฯ บริษัทอธิบายว่า 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จะลงเงินภายในช่วงสิบปีข้างหน้า ส่วนเงินที่เหลือจะทยอยลงทุนในอีก 20 ปีถัดไป คาดว่าจะสร้างตำแหน่งงานมากเกือบ 50,000 ตำแหน่ง 3

- Global Foundries และ Qualcomm ประกาศลงนามในข้อตกลงขยายความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ระหว่างสองบริษัท โดย Qualcomm จะสั่งซื้อเวเฟอร์ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่สำคัญในการผลิตชิปและสนับสนุนการขยายโรงงานในสหรัฐฯ ของ Global Foundries ไปจนถึงปี 2028 ซึ่งข้อตกลงนี้เกิดขึ้นหลังจากรัฐสภาสหรัฐฯ ผ่านกฎหมาย CHIPS Act ที่สนับสนุนการตั้งโรงงานผลิตชิปในประเทศโดยโรงงานใหม่ของ Global Foundries ที่ขยายกำลังการผลิตอยู่ในสหรัฐฯ คือโรงงานที่ตั้งอยู่ในเมือง Malta รัฐนิวยอร์ก 4

3 https://www.enterpriseitpro.net/micron-to-invest-100-billion-in-ny-semiconductor/
4 https://www.blognone.com/topics/globalfoundries

- Intel ลงทุน 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเตรียมสร้างโรงงานผลิตชิปขนาดใหญ่ในรัฐโอไฮโอ ซึ่งคาดว่าจะกลายเป็นฐานการผลิตซิลิกอนที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยการก่อสร้างจะเริ่มต้นภายในปี 2022 นี้ และคาดว่าโรงงานจะเริ่มผลิตได้ภายในปี 2025 5

- Samsung เตรียมสร้างโรงงานผลิตเซมิคอนดักเตอร์มูลค่า 17,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในรัฐเท็กซัสเพื่อใช้สร้างชิปในระดับไฮเอนด์สำหรับสมาร์ทโฟน เทคโนโลยี 5G ระบบ AI และอื่นๆ 6

 

นอกจากมาตรการสนับสนุนทางด้านการเงินแล้ว สหรัฐฯ โดยกรมการค้าสหรัฐฯ ยังได้ประกาศห้ามการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีไปยังจีน เพื่อตัดจีนออกจากการได้รับหรือผลิตชิปสำคัญและชิ้นส่วนสำหรับคอมพิวเตอร์ขั้นสูง โดยประเด็นสำคัญของกฎการควบคุมนี้ประกอบด้วย

1. บริษัทเทคโนโลยีที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ จะไม่ได้รับอนุญาตให้ลงทุนใน

ประเทศอื่น และข้อสำคัญ คือ ห้ามสร้างโรงงานที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในจีนเป็นระยะเวลา 10 ปี 

รวมถึงห้ามไม่ให้ส่งออกเทคโนโลยีล่าสุดด้วย แต่ยังสามารถตั้งโรงงานเพื่อผลิตชิปที่ใช้เทคโนโลยีเก่า 

(Mature Node) เพื่อขายในตลาดจีนได้

2. บริษัทต่างๆ จะต้องมีใบอนุญาตในการส่งออกชิปคุณภาพสูงที่ออกแบบสำหรับ แอปพลิเคชันปัญญาประดิษฐ์ (AI) ไปยังจีน

3. การควบคุมนี้ครอบคลุมถึงชิปที่ผลิตโดยต่างชาติที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) 

และคอมพิวเตอร์ขั้นสูงที่ใช้เครื่องมือและซอฟท์แวร์ของสหรัฐฯ ในการออกแบบและผลิต

4. บริษัทสัญชาติสหรัฐฯ จะต้องคุมเข้มการส่งออกเครื่องจักรไปยังบริษัทสัญชาติจีนที่ ผลิตชิปของเทคโนโลยีขั้นสูงโดยเฉพาะ 7

5 https://www.engadget.com/intel-ichip-making-facility-in-ohio-073608482.html
6 https://www.engadget.com/samsung-17-billion-chip-factory-Texas-054150875.html
7 https://www.efinancethai.com/LastestNews/LatestNewsMain.aspx?release=y&ref=M&id=RXpEb0VQVkNGSzA9

ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากกฎหมายฉบับนี้

จากการออกกฎหมายสนับสนุนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐฯ ฉบับนี้ทำให้มีการคาดการณ์ว่า ตลาดของเซมิคอนดักเตอร์โลกจะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นสูงมาก โดย ASML บริษัทซัพพลายเออร์ชั้นนำในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์คาดว่า ตลาดเซมิคอนดักเตอร์โลกนั้นจะเติบโตถึงร้อยละ 16.3 ภายในปี 2022 และ World Semiconductor Trade Statistics คาดการณ์ว่าในปี 2023 ตลาดของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จะเติบโตเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 5.1 และยังมีการคาดการณ์ว่ากฎหมายสนับสนุนอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐฯ ครั้งนี้อาจทำให้ส่วนแบ่งเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐฯ ในตลาดโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ก็เป็นได้

CHIPS for America Act, กฎหมาย CHIPS Act, CHIPS and Science Act, CHIPS Act of 2022, EEI สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์, Creating Helpful Incentives to Produce Semiconductors for America Act

ที่มา : forbesthailand.com

ทันทีที่กฎหมาย CHIPS Act of 2022 ผ่านการลงนามจากประธานาธิบดี โจ ไบเดนจีนได้มีการตอบโต้กลับโดยสมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์จีน (CSIA) ออกแถลงการณ์ระบุว่ากฎหมายชิปและวิทยาศาสตร์ (CHIPS and Science Act) ของสหรัฐอเมริกาละเมิดการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม และทางรัฐบาลจีนยังได้ร้องเรียนไปที่องค์การการค้าโลก (WTO) ว่าการกีดกันการส่งออกของสหรัฐฯ เช่นนี้ เป็นการผิดข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศที่มีแนวคิดว่าการตั้งกำแพงกีดกันทางการค้าไปมาจะทำให้ต้นทุนการผลิตของทั่วโลกสูงขึ้น และเป็นการฉุดรั้งความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีอีกด้วย

 

สรุป

จะเห็นได้ว่ากฎหมาย CHIPS Act of 2022 ฉบับนี้จะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของสหรัฐฯ และยังเสริมให้มีความสามารถในการแข่งขันและความยืดหยุ่นของระบบนิเวศภายในประเทศได้อย่างดีเยี่ยมอีกด้วย  กฎหมายดังกล่าวยังอาจจะส่งผลให้สหรัฐฯ ขึ้นเป็นศูนย์กลางของการผลิตเซมิคอนดักเตอร์โลกและเป็นแกนหลัก

ผู้กำหนดห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของโลก จนทำให้กระทรวงพาณิชย์ของจีนต้องออกมากล่าวว่า สหรัฐฯ กำลังจะบิดเบือนห่วงโซ่อุปทานของเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกและยังขัดขวางการค้าระหว่างประเทศอีกด้วย  สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทยจำเป็นต้องเฝ้าติดตามความคืบหน้าของผลจากกฎหมายฉบับนี้ เพราะน่าจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอนาคตต่อโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานของเซมิคอนดักเตอร์หรือชิป ซึ่งเดิมจะอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นส่วนใหญ่ อาจมีการกระจายตัวไปยังฝั่งสหรัฐฯ มากขึ้น โดยเฉพาะชิปที่ใช้เทคโนโลยี

ขั้นสูง (Advanced Chips) และในฐานะที่ไทยเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานชิปในกระบวนการประกอบและทดสอบชิป (Assembly & Testing) ในภูมิภาคนี้ รวมทั้งยังเป็นฐานการผลิตสินค้าขั้นปลายน้ำที่ล้วนแต่ต้องใช้ชิปในการผลิต การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจสร้างผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไทย โดยในแง่ของการแข่งขันด้านเทคโนโลยีและการพัฒนาชิประหว่างสหรัฐฯ และจีนน่าจะทวีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้นและอาจทำให้เกิดการแบ่งขั้วของห่วงโซ่อุปทานของเทคโนโลยีชิปของทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งผลบวกและผลลบของผู้ประกอบการในไทย โดยไทยเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ PCB  (Printed Circuit Board) และ PCBA (Printed Circuit Board Assembly) รายใหญ่ของโลกน่าจะได้รับประโยชน์ในการส่งออกได้เพิ่มมากขึ้น แต่ก็อาจต้องคำนึงถึงเรื่องเทคโนโลยีการผลิตว่าจะต้องมีการปรับเปลี่ยนให้สามารถอยู่ในห่วงโซ่การผลิตได้ทั้ง 2 ฝ่าย

 

อ้างอิง

-  The CHIPS Act of 2022. สืบค้นจาก https://www.commerce.senate.gov/services

-  กฎหมาย CHIPS ของสหรัฐฯ กระทบห่วงโซ่อุปทานชิป กดดันการแข่งขันอุตฯ อิเล็กทรอนิกส์ไทย. สืบค้นจาก https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/Chips-US-FB-18-08-2022.aspx

-  สหรัฐฯ ออก CHIPS Act ทุ่มเงินผลิตเซมิคอนดักเตอร์. สืบค้นจาก https://forbesthailand.com

-  เซมิคอนดักเตอร์ ในสงครามเทคโนโลยีสหรัฐฯ – จีน. สืบค้นจาก https://aspa.mfa.go.th

-  จีนสะเทือน สหรัฐทุ่ม 76 พันล้านดอลลาร์ ชิง Supply Chain อุตสาหกรรมชิปจากจีน. สืบค้นจาก https://www.brandage.com/article/31914/-Supply-Chain

-  Semiconductor Shortage. สืบค้นจาก https://www.wha-group.com/th

-  จีนสะเทือน สหรัฐทุ่ม 76 พันล้านดอลลาร์ ชิง Supply Chain อุตสาหกรรมชิปจากจีน. สืบค้นจาก https://www.brandage.com/article/31914/-Supply-Chain-

-  สหรัฐฯ ผ่านกฎหมายสนับสนุนอุตสาหกรรมเซมิคอนเตอร์ ทุ่มงบกว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์หนุนผลิตชิป. สืบค้นจาก https://mgronline.com/around/detail/9650000078588

-  ‘นโยบายสงครามชิป’ ของไบเดน กำลังสร้างความเสียหายให้ ‘พวกบริษัทสหรัฐฯ’ หนักหน่วงกว่า ‘จีน’. สืบค้นจาก https://mgronline.com/around/detail/9650000101515

 

อ่านเพิ่มเติม :

 

ที่มา: แผนกนโยบายและแผน ศูนย์ข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (E&E Intelligence Unit: EIU) สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (EEI)

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH