แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเวียดนาม ปี 2021-2025, การพัฒนาอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนาม

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเวียดนาม ปี 2021-2025 กับการพัฒนาอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

อัปเดตล่าสุด 17 ก.พ. 2566
  • Share :
  • 9,206 Reads   

ปัจจุบัน เวียดนามเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับการลงทุนด้านการผลิต เนื่องจากเวียดนามเปิดรับการค้าเสรีและการลงทุนจากต่างประเทศ มีการแก้ไขกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคต่อการค้า มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรมนุษย์อย่างต่อเนื่อง ต้นทุนค่าแรงต่ำ รวมถึงมียุทธศาสตร์ที่มีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมเป็นแผนหลักในการรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยปัจจุบันเวียดนามกำลังดำเนินการตามกลยุทธ์ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเวียดนาม ปี 2021-2025 (Socio-Economic Development Plan for 2021-2025) ซึ่งมุ่งมั่นที่จะสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมและก้าวข้ามจากการเป็นประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างต่ำ (Lower Middle Income) ภายในปี 2025

ภาพรวมเศรษฐกิจของเวียดนาม

เศรษฐกิจเวียดนามประสบความสำเร็จอย่างมากในช่วงปี 2017-2019 ขณะที่ในปี 2020 และปี 2021 การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP Growth) ของเวียดนามอยู่ที่ร้อยละ 2.9 และ 2.6 ตามลำดับ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในปีดังกล่าว GDP Growth ของเวียดนามจะขยายตัวไม่มากนัก แต่เวียดนามก็ยังคงเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่มีการเติบโตในเชิงบวก

ส่วนการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP Growth) ของเวียดนาม ปี 2022 นั้น ธนาคาร Standard Chartered ได้ประมาณการ GDP Growth ของเวียดนามไว้ที่ร้อยละ 6.7(1) โดยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและการกลับมาดำเนินการอย่างเต็มรูปแบบของโรงงานจะทำให้เศรษฐกิจเวียดนามฟื้นตัวได้

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเวียดนาม ปี 2021-2025, การพัฒนาอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนาม

สำหรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของเวียดนามนั้น พบว่า ในปี 2021 ภาคบริการมีสัดส่วนสูงสุดโดยคิดเป็นร้อยละ 40.95 ภาคอุตสาหกรรมและการก่อสร้างมีสัดส่วนรองลงมาโดยคิดเป็นร้อยละ 37.86 ขณะที่ ภาคเกษตร ป่าไม้ และประมงมีสัดส่วนร้อยละ 12.36 และภาษีสินค้าคิดเป็นร้อยละ 8.832

ขณะที่ ด้านการลงทุนนั้น พบว่า ในปี 2021 เวียดนามมีโครงการลงทุนจากต่างชาติ 34,527 โครงการ ด้วยทุนจดทะเบียนทั้งสิ้น 408,093 ล้านเหรียญสหรัฐ และเป็นการลงทุนในภาคการผลิตเป็นหลัก โดยนักลงทุนรายใหญ่ ได้แก่ เกาหลีใต้ญี่ปุ่นและสิงคโปร์(2)

ภาพรวมการค้าของเวียดนาม

สำหรับภาพรวมการค้าของเวียดนามในช่วงปี 2002-2021(3) พบว่า การนำเข้าสินค้าของเวียดนามมีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ที่ร้อยละ 16 หรือมีมูลค่าการนำเข้าจาก 17,474 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2002 เพิ่มขึ้นเป็น 339,461 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2021 สินค้าหลักที่เวียดนามนำเข้าในปี 2021 ได้แก่ สินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ HS 84 และ HS 85(4) โดยมีสัดส่วนรวมกัน ร้อยละ 36 หรือมีมูลค่า 123,473 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ ประเทศคู่ค้าหลักของเวียดนาม ได้แก่ จีนและเกาหลีใต้

ในขณะที่ การส่งออกสินค้าของเวียดนามมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ร้อยละ 18 หรือมีมูลค่าการส่งออกจาก 14,859 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2002 เพิ่มขึ้นเป็น 389,072 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2021 สินค้าหลักที่เวียดนามส่งออก ได้แก่ สินค้ากลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ HS 84 และ HS 85 โดยมีสัดส่วนรวมกันร้อยละ 50 หรือมีมูลค่า 196,932 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ประเทศคู่ค้าที่เวียดนามมีสัดส่วนการส่งออกสินค้ามากที่สุด ได้แก่ สหรัฐฯ และจีน

ภาพรวมแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเวียดนาม ปี 2021-2025 (Socio-Economic Development Plan for 2021-2025)

วัตถุประสงค์ของแผนฯ (General Objectives)

เพื่อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วและยั่งยืนบนพื้นฐานของการเสริมสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมหภาค การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มุ่งมั่นที่จะเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีอุตสาหกรรมสมัยใหม่และเอาชนะสถานะประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างต่ำ (Lower Middle Income) ภายในปี 2025 รวมถึงดำเนินการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจเพื่อลดผลกระทบของการระบาดใหญ่ของ COVID-19 อย่างมีประสิทธิภาพและเพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว

เป้าหมายหลักของแผนฯ (Major Targets)

ภายใต้แผนฯ เวียดนาม ได้มุ่งเน้นการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเป้าหมายหลักของแผนฯ เวียดนาม มีดังต่อไปน

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเวียดนาม ปี 2021-2025, การพัฒนาอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนาม

ที่มา: vietnam.gov.vn รวบรวมและวิเคราะห์โดยแผนกนโยบายและแผน สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

งานหลักและแนวทางแก้ไขของแผนฯ (Major Tasks and Solutions)

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเวียดนาม ปี 2021-2025, การพัฒนาอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนาม

ที่มา: vietnam.gov.vn รวบรวมและวิเคราะห์โดยแผนกนโยบายและแผน สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเวียดนาม ปี 2021-2025 มีแผนงานหลัก (Major Tasks and Solutions) ที่ครอบคลุมทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายหลัก (Major Targets) รวมถึงยังมุ่งพัฒนาในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ซึ่งตัวอย่างแผนงานหลักภายใต้แผนฯ ของเวียดนาม มีดังต่อไปนี้

1) การมุ่งเน้นไปที่การจัดการ COVID-19 โดยให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสุขภาพของประชาชน ดำเนินการป้องกันและควบคุม COVID-19 อย่างเข้มงวด รวมไปจนถึงการดำเนินการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพ

2) ปฏิรูปกฎหมายและปรับปรุงประสิทธิภาพของการบังคับใช้กฎหมาย ทบทวน แก้ไข และสรุปข้อกำหนดทางกฎหมายที่ไม่เหมาะสม ทับซ้อนกัน ไม่สมบูรณ์ หรือเป็นปัญหา โดยเฉพาะในเรื่องการลงทุน ธุรกิจ ที่ดิน งบประมาณ ทรัพย์สินสาธารณะ ภาษี การซื้อขายและการจัดการสินทรัพย์ดิจิทัล

3) ส่งเสริมการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและมุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดการปรับปรุงผลิตภาพ ประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขันผ่านการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม

4) อัปเดตกลไกในการจัดสรรทรัพยากรการลงทุนในอุตสาหกรรมหลักและโครงการที่มีความสำคัญระดับชาติ สร้างความเชื่อมโยงระหว่างภาคเศรษฐกิจภายในประเทศและภาคการลงทุนจากต่างประเทศ โดยดึงดูดนักลงทุนต่างชาติผ่านการกำหนดนโยบายและสิทธิพิเศษ

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเวียดนาม ปี 2021-2025, การพัฒนาอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนาม

5) ส่งเสริมการก่อสร้างและพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานให้ทันสมัย ตัวอย่างการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่น เดินหน้าสร้างท่าเรือสำคัญตามแผนที่วางไว้ ยื่นข้อเสนอการลงทุนรถไฟความเร็วสูงต่อหน่วยงานที่มีอำนาจ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานอีกด้วย

6) พัฒนาคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ควบคู่ไปกับการส่งเสริมนวัตกรรมและการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ปรับปรุงคุณภาพและประสิทธิภาพของตลาดแรงงาน นำผลการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลและเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้กับความเชื่อมโยงระหว่างอุปสงค์และอุปทานแรงงาน และเตรียมทรัพยากรมนุษย์สำหรับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล

7) เสริมสร้างความเชื่อมโยงในระดับภูมิภาคเพื่อกระตุ้นการเติบโตของภูมิภาคเศรษฐกิจที่สำคัญ นอกจากนี้ยังมีการเลือกสถานที่และเมืองที่มีข้อได้เปรียบพิเศษเพื่อสร้างศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการเงิน ที่มีความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติและเชื่อมโยงกับศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญในภูมิภาคและทั่วโลก

8) สร้างความเชื่อมโยงระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจกับการพัฒนาวัฒนธรรมหรือสังคมอย่างกลมกลืน เช่น พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในชนกลุ่มน้อยและพื้นที่ภูเขา พัฒนาการแพทย์แผนโบราณควบคู่กับการแพทย์แผนปัจจุบัน เป็นต้น

9) เสริมสร้างการจัดการทรัพยากรและการรักษาสิ่งแวดล้อมในเชิงรุก เพื่อป้องกัน ต่อสู้ และจำกัดผลกระทบของภัยธรรมชาติและการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงพัฒนาแผนงาน กลไก นโยบายและกฎหมายเพื่อสร้างและดำเนินการแบบจำลองเศรษฐกิจสีเขียว

10) การปรับปรุงประสิทธิภาพของการจัดการของรัฐ สร้างและดำเนินการ e-Government เพื่อมุ่งสู่รัฐบาลดิจิทัล ลดขั้นตอนการบริหารและเงื่อนไขทางธุรกิจลง และกำหนดความรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบอำนาจ

11) รักษาสภาพแวดล้อมที่สงบและมั่นคง เพื่อการพัฒนาประเทศพร้อมทั้งเตรียมพร้อมที่จะตอบสนองต่อความท้าทายด้านความปลอดภัยอย่างมีประสิทธิภาพ

12) ปรับปรุงประสิทธิภาพของการบูรณาการระหว่างประเทศที่ครอบคลุมและเชิงลึก เช่น จัดกิจกรรมความสัมพันธ์ทางการทูต ส่งเสริมความสัมพันธ์ในเชิงลึกและยั่งยืนกับคู่ค้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งคู่ค้าที่สำคัญซึ่งมีผลประโยชน์เชื่อมโยงอย่างใกล้ชิด เป็นต้น

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเวียดนาม ปี 2021-2025, การพัฒนาอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนาม

ภาพรวมอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (E&E) เวียดนาม

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เป็นอุตสาหกรรมหลักสำคัญในการขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจของเวียดนามให้มีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วและมีส่วนช่วยขยายปริมาณการค้าของเวียดนาม โดยในปัจจุบันเวียดนามส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์คิดเป็นร้อยละ 50 ของการส่งออกทั้งหมด รวมถึงเวียดนามยังสามารถไต่อันดับในฐานะผู้ส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของโลกจากอันดับที่ 30 ในปี 2010 มาอยู่ที่อันดับ 10 ในปี 2021 อีกด้วย(5)

สำหรับการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เวียดนามนั้น เกิดจากนโยบายดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ซึ่งรัฐบาลเวียดนามสามารถดึงดูดการลงทุนจากบริษัทผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของโลกให้มีการย้ายฐานการผลิตไปยังเวียดนาม เช่น ผู้ประกอบการสัญชาติเกาหลีใต้อย่าง LG และ Samsung ที่ย้ายฐานการผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์บางส่วนจากไทยไปเวียดนาม ผู้ประกอบการสัญชาติญี่ปุ่นอย่าง Nintendo ได้ย้ายฐานการผลิตสินค้าเครื่องเล่นเกม Nintendo Switch ไปยังเวียดนาม เป็นต้น รวมถึงเวียดนามยังอยู่ในห่วงโซ่การผลิตชิปซึ่งเป็นชิ้นส่วนสำคัญที่ทำหน้าที่ประมวลผล โดยโรงงานผลิตชิปของบริษัท Intel ได้ตั้งฐานการผลิตในเวียดนาม รวมถึงบริษัท Samsung ที่มีฐานการผลิตในเวียดนามยังประกาศแผนเริ่มผลิตชิปที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (Ball Grid Array) โดยจะเริ่มผลิตตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2023 เป็นต้นไป(6)

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเวียดนาม ปี 2021-2025, การพัฒนาอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนาม

นอกจากนี้ เวียดนามยังได้รับผลประโยชน์จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ที่ส่งผลทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในจีนสูงขึ้น จนทำให้ผู้ประกอบการในจีนตัดสินใจย้ายฐานการผลิตไปยังเวียดนาม
และทำให้เวียดนามอยู่ในห่วงโซ่คุณค่าระดับภูมิภาคและระดับโลก ตัวอย่างเช่น Apple ได้ย้ายฐานการผลิตบางส่วนจากจีนไปเวียดนาม ไม่ว่าจะเป็นการผลิตสินค้า iPhone, iPad, AirPods, Apple Watch, และ MacBook

การค้าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนาม

สำหรับภาพรวมการนำเข้าและส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนามในช่วงปี 2002-2021 พบว่า การนำเข้าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนามมีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ที่ร้อยละ 25 หรือมีมูลค่าการนำเข้าจาก 1,541 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2002 เพิ่มขึ้นเป็น 123,473 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2021 ในขณะที่ การส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนามมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ร้อยละ 31 หรือมีมูลค่าการส่งออกจาก 1,015 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2002 เพิ่มขึ้นเป็น 196,932 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2021 ซึ่งการเติบโตดังกล่าวเกิดจากการที่นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เวียดนามเพิ่มขึ้น จึงมีการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบมาผลิตและประกอบเป็นสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์สำเร็จรูปสำหรับการส่งออกมากขึ้น

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเวียดนาม ปี 2021-2025, การพัฒนาอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนาม

ที่มา: Global Trade Atlas รวบรวมและวิเคราะห์โดยแผนกนโยบายและแผน สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

 

หากพิจารณาประเทศคู่ค้าและสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หลักที่เวียดนามนำเข้า โดยเปรียบเทียบระหว่างปี 2011 และ 2021 จะพบว่า สินค้าหลักที่เวียดนามนำเข้าในปัจจุบัน (ปี 2021) เปลี่ยนแปลงไปจากปี 2011 โดยเวียดนามมีการนำเข้าสินค้าวงจรรวมในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น จากร้อยละ 12 ในปี 2011 เป็นร้อยละ 37 ในปี 2021 ขณะที่ ประเทศคู่ค้าสำคัญที่เวียดนามนำเข้าสินค้าในปี 2021 ได้แก่ จีน (ร้อยละ 40) และเกาหลีใต้ (ร้อยละ 27) (ภาพที่ 5)

ขณะที่ ประเทศคู่ค้าและสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หลักที่เวียดนามส่งออก โดยเปรียบเทียบระหว่างปี 2011 และ 2021 จะพบว่า สินค้าหลักที่เวียดนามส่งออกในปัจจุบัน (ปี 2021) เปลี่ยนแปลงไปจากปี 2011 โดยเวียดนามมีการส่งออกสินค้าวงจรรวมในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 8 ในปี 2011 เป็นร้อยละ 18 ในปี 2021 ส่วนสินค้าหลักที่เวียดนามส่งออกในปี 2011 อย่างสินค้าเครื่องโทรศัพท์และอุปกรณ์นั้น เวียดนามมีการส่งออกในสัดส่วนที่ลดลงในปี 2021 โดยมีการส่งออกร้อยละ 17 ซึ่งมีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกับสินค้าวงจรรวม และสำหรับประเทศคู่ค้าสำคัญที่เวียดนามส่งออกสินค้าในปี 2021 ได้แก่ จีน (ร้อยละ 30) และสหรัฐฯ (ร้อยละ 22) (ภาพที่ 6)

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเวียดนาม ปี 2021-2025, การพัฒนาอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนาม

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเวียดนาม ปี 2021-2025, การพัฒนาอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนาม

แผนงานหลักภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเวียดนาม ปี 2021-2025 ที่จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนาม

แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเวียดนาม ปี 2021-2025, การพัฒนาอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนาม

ที่มา: vietnam.gov.vn รวบรวมและวิเคราะห์โดยแผนกนโยบายและแผน สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

 

ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเวียดนาม ปี 2021-2025 มีแผนงานหลัก (Major Tasks and Solutions) ที่คาดว่าจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนาม ดังนี้

  • แผนการด้านการปฏิรูปกฎหมาย นอกจากการทบทวนและแก้ไขข้อกำหนดทางกฎหมายแล้ว ยังมีการเร่งกำหนดนโยบายและกรอบกฎหมายสำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และสร้างกรอบกฎหมายสำหรับโมเดลธุรกิจใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงด้วย ซึ่งจะช่วยรองรับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลระดับชาติและผลักดันให้เกิดการดำเนินธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ
  • เวียดนามมีแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมผ่านการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยจัดลำดับความสำคัญของอุตสาหกรรมหลัก อุตสาหกรรมไฮเทค และอุตสาหกรรมสนับสนุน ซึ่งมุ่งเน้นที่การพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอัจฉริยะ รวมไปจนถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมสีเขียวและอุตสาหกรรมการบริการ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสนับสนุน(7) ที่เวียดนามกำลังให้ความสำคัญในการวางกรอบนโยบายในอนาคต อุตสาหกรรมสนับสนุนจะช่วยสร้างรากฐานสำหรับตลาดภายในประเทศและลดการพึ่งพาการนำเข้า โดยรัฐบาลจะให้สิทธิพิเศษทางการเงินในรูปแบบของอัตราดอกเบี้ยที่ดีและมีเงินกู้ระยะสั้นมากขึ้น นอกจากนี้ เวียดนามยังส่งเสริมการปรับโครงสร้างการเกษตรโดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จะสามารถเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะได้
  • รัฐบาลเวียดนามได้ดึงดูดและร่วมมือกับนักลงทุนต่างชาติ โดยการกำหนดนโยบายและสิทธิพิเศษในการจัดตั้งสำนักงาน ศูนย์วิจัยและศูนย์นวัตกรรมในเวียดนามเพื่อสร้างความเชื่อมโยงระหว่างภาคเศรษฐกิจภายในประเทศและภาคการลงทุนจากต่างประเทศ ที่ผ่านมาบริษัทต่างชาติที่ผลิตสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ได้ให้ความสนใจในการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D) ในเวียดนาม เช่น บริษัท Qualcomm ที่เปิดดำเนินการศูนย์ R&D โดยมุ่งการพัฒนาเทคโนโลยี 4G 5G และ Internet of Things (IoT) หรือบริษัท Samsung Electronics ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างศูนย์ R&D ที่กรุงฮานอยเพื่อเป็นศูนย์วิจัยด้านโทรศัพท์ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านและปัญญาประดิษฐ์ เป็นต้น(8)
  • นอกจากจะส่งเสริมการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์แล้ว รัฐบาลเวียดนามยังมุ่งส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานอีกด้วย โดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียนอย่างโครงการไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ การลงทุนด้านการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ที่เพิ่มขึ้นนี้ทำให้เวียดนามกลายเป็นประเทศที่มีการผลิตกระแสไฟฟ้าจากโซล่าร์เซลล์มากที่สุดใน ASEAN โดยมีกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 16.660 กิกะวัตต์ (GW)(9) นอกจากนี้ เวียดนามยังเตรียมประกาศใช้แผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติฉบับที่ 8 (Power Development Plan VIII: PDP8) และมุ่งพัฒนาแหล่งพลังงานในประเทศเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตไฟฟ้า โดยเฉพาะจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อทดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล(10)
  • พัฒนาคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ควบคู่ไปกับการส่งเสริมนวัตกรรมและการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผ่านการปรับปรุงคุณภาพและประสิทธิภาพของตลาดแรงงาน เตรียมทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลที่กำลังเกิดขึ้น มุ่งเน้นการพัฒนางานวิจัยพื้นฐานและการวิจัยเทคโนโลยีประยุกต์เร่งการก่อตั้งศูนย์สตาร์ทอัพเชิงสร้างสรรค์ระดับชาติในฮานอย ดานังและนครโฮจิมินห์ รวมไปถึงยังคงได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 3 ประเทศชั้นนำของภูมิภาคอาเซียนตามดัชนีนวัตกรรมโลก (GII)(11)
  • เสริมสร้างความเชื่อมโยงในระดับภูมิภาค เพื่อกระตุ้นการเติบโตของภูมิภาคเศรษฐกิจที่สำคัญ สร้างศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการเงินที่มีความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติและเชื่อมโยงกับศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่สำคัญในภูมิภาคและทั่วโลก นอกจากนี้ยังมุ่งมั่นที่จะพัฒนาเมืองอัจฉริยะอีกด้วย ที่ผ่านมาเวียดนามได้อนุมัติโครงการพัฒนาเขตเมืองอัจฉริยะอย่างยั่งยืนระหว่างปี 2018–2025 โดยกำหนดเป้าหมายการพัฒนาเขตเมืองอัจฉริยะอย่างน้อย 6 แห่ง ภายในปี 2025 และกำหนดให้กรุงฮานอย นครโฮจิมินห์ นครดานัง และนครเกิ่นเทอ(12) เป็นจุดเชื่อมโยงหลักของเขตเมืองอัจฉริยะในแต่ละภูมิภาค ซึ่งการพัฒนาเมืองอัจฉริยะดังกล่าวจะกระตุ้นให้เกิดการใช้งานและการพัฒนาเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะมากขึ้น
  • เสริมสร้างการจัดการทรัพยากรและการรักษาสิ่งแวดล้อมในเชิงรุก เพื่อจำกัดผลกระทบของภัยธรรมชาติตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงพัฒนาแผนงานเพื่อสร้างแบบจำลองเศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนามจำเป็นต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน โดยให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
  • ใช้ข้อตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อขยายตลาดนำเข้าและตลาดส่งออก ทั้งนี้ เวียดนามมี FTA ที่ครอบคลุมประเทศคู่ค้าจำนวนมากและ FTA ถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การค้าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนามขยายตัว ทั้งนี้ เวียดนามมี FTA ที่มีผลบังคับใช้แล้ว 15 ฉบับ(13) โดย FTA ที่น่าจับตามอง ได้แก่ FTA รุ่นใหม่อย่างข้อตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ที่ทำให้เวียดนามมีการส่งออกไปยังแคนาดาและเม็กซิโกเพิ่มขึ้น รวมถึงข้อตกลงการค้าเสรีของสหภาพยุโรป-เวียดนาม (EVFTA) และข้อตกลงสหราชอาณาจักร-เวียดนาม (UKVFTA) ที่ช่วยกระตุ้นการค้าระหว่างเวียดนามและสหภาพยุโรป และการค้าระหว่างเวียดนามและสหราชอาณาจักรให้ขยายตัวมากขึ้น(14) นอกจากนี้ยังมีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่คาดว่าจะมีบทบาทสำคัญต่อการค้าระหว่างประเทศของเวียดนามในปีนี้ รวมไปจนถึงข้อตกลง Vietnam-EFTA (สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์และลิกเตนสไตน์) และเขตการค้าเสรีเวียดนามอิสราเอลที่อยู่ระหว่างการเจรจาด้วย

สรุป

ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเวียดนาม ปี 2021-2025 ได้ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมสนับสนุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เพื่อสร้างรากฐานสำหรับตลาดภายในประเทศและลดการพึ่งพาการนำเข้าในอนาคต เน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมผ่านการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ดึงดูดและร่วมมือกับนักลงทุนต่างชาติโดยการกำหนดนโยบายและสิทธิพิเศษในการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนา (R&D) ในเวียดนาม สร้างและปรับปรุงข้อกำหนดทางกฎหมายเพื่อผลักดันให้การดำเนินธุรกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น ปรับปรุงคุณภาพและประสิทธิภาพของตลาดแรงงาน รวมไปจนถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมควบคู่ไปกับการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ เวียดนามยังมุ่งเน้นที่จะใช้ข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่มีในการขยายการค้าและส่วนแบ่งทางการตลาดอีกด้วย จะเห็นได้ว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเวียดนามมีแผนงานที่ครอบคลุมทั้งการสนับสนุนผู้ประกอบการ พัฒนาประสิทธิภาพของแรงงาน และทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) กับประเทศต่างๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยให้อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เวียดนามเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนสำหรับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในประเทศและบรรลุเป้าหมายการเติบโตของ GDP ร้อยละ 6.5 - 7.0 ต่อปีในช่วงปี 2021-2025 ได้

การเติบโตของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เวียดนามนั้น เป็นโอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขยายการลงทุนในเวียดนามหรือต้องการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานเวียดนาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมสนับสนุนของเวียดนามอย่างการผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งปัจจุบันเวียดนามยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าอุปกรณ์และส่วนประกอบจากต่างประเทศจำนวนมาก หากผู้ประกอบการไทยเข้าไปตั้งฐานการผลิตในเวียดนามจะทำให้ผู้ประกอบการไทยได้รับประโยชน์จากนโยบายสนับสนุนการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมสนับสนุนของเวียดนาม รวมถึงการเข้าไปลงทุนในเวียดนามยังทำให้ผู้ประกอบการสามารถใช้สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีในการนำเข้าและส่งออกสินค้าผ่านการใช้ข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ต่าง ๆ ที่เวียดนามได้ทำกับประเทศคู่ค้าด้วย

อย่างไรก็ตาม เวียดนามได้ปรับค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2022 เป็นต้นมา โดยค่าแรงขั้นต่ำจะอยู่ระหว่าง 141.30 - 203.5 เหรียญสหรัฐต่อเดือนขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ โดยเขตเมืองของกรุงฮานอยและนครโฮจิมินห์จะได้รับค่าแรงขั้นต่ำสูงสุด ซึ่งค่าแรงขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นนี้จะส่งผลต่อต้นทุนค่าแรงของภาคอุตสาหกรรม(15) นอกจากนี้ ในปัจจุบันต้นทุนโลจิสติกส์ในเวียดนามอยู่ในระดับสูงโดยคิดเป็นร้อยละ 20-25 ของ GDP เนื่องจากผู้ประกอบการนิยมเช่าเรือสินค้าต่างประเทศมากกว่าใช้เรือเวียดนาม ซึ่งต้นทุนโลจิสติกส์ที่สูงนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อต้นทุนการนำเข้าและส่งออกสินค้าของผู้ประกอบการ(16) ผู้ประกอบการไทยที่ไปทำธุรกิจในเวียดนามอาจต้องคำนึงถึงปัจจัยดังกล่าวด้วย

 

อ้างอิงข้อมูล :

  • 1 Vietnam Investment Review under the Ministry of Planning and Investment
  • 2 สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงฮานอย
  • 3 Global Trade Atlas รวบรวมโดยแผนกนโยบายและแผน สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
  • 4 เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ บอยเลอร์ เครื่องจักร เครื่องใช้กล และส่วนประกอบของเครื่องดังกล่าว (HS 84) และเครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า และส่วนประกอบของเครื่องดังกล่าว เครื่องบันทึกเสียงและเครื่องถอดเสียง เครื่องบันทึกและเครื่องถอดภาพและเสียงทางโทรทัศน์ รวมทั้งส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องดังกล่าว (HS 85) และจัดกลุ่มสินค้าที่เกี่ยวข้องตามการจัดกลุ่มของศูนย์ข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (EIU) สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
  • 5 Global Trade Atlas
  • 6 thaibiz-vietnam
  • 7 เวียดนามส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุนในช่วงปี 2020-2030 โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมวิศวกรรมเครื่องกล อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมเครื่องหนังและรองเท้า และอุตสาหกรรมยานยนต์ (ที่มา: vietnam-briefing)
  • 8 thaibiz-vietnam
  • 9 International Renewable Energy Agency 2021
  • 10 moneyandbanking
  • 11 การจัดทำดัชนีนวัตกรรมระดับโลก (GII) ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ถือเป็นตัวชี้วัดความสามารถทางด้านนวัตกรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงผลผลิตด้านองค์ความรู้ เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ การวิจัยและพัฒนาของแต่ละประเทศ (ที่มา: National Innovation Agency)
  • 12 ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในเวียดนาม สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงฮานอย
  • 13 Center for WTO and International Trade
  • 14 vietnam-briefing
  • 15 theinvestor.vn
  • 16 thaibiz-vietnam

 

ที่มา: แผนกนโยบายและแผน ศูนย์ข้อมูลเชิงลึกอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (E&E Intelligence Unit: EIU) สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (EEI)

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH