เจาะรหัส "Monozukuri White Paper" บริหารความเสี่ยงผู้ผลิตด้วย Dynamic Capabilities

เจาะรหัส Monozukuri 2020 ชู Dynamic Capabilities ทางรอดอุตสาหกรรมการผลิต

อัปเดตล่าสุด 30 ก.ย. 2563
  • Share :
  • 2,103 Reads   

จากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทั่วโลกในช่วงหลายปีหลังนี้ ทั้งสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ, สงครามการค้าญี่ปุ่น-เกาหลีใต้, Brexit, จนกระทั่งวิกฤตการณ์ COVID-19 ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจอุตสาหกรรมอย่างหนักและกระตุ้นให้หลายฝ่ายต้องมองหาทางรอดท่ามกลางความผันผวนและพร้อมเผชิญกับความท้าทายที่ไม่คาดคิดมาก่อน

รัฐบาลญี่ปุ่น โดยกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (Ministry of Economy, Trade and Industry: METI) จึงได้จัดทำ “Monozukuri White Paper 2020” เอกสารคู่มืออุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งหยิบยกทฤษฎี “Dynamic Capabilities” ขึ้นมาเป็นใจความสำคัญ เพื่อส่งเสริมทักษะในการบริหารความเสี่ยงให้ธุรกิจอุตสาหกรรมสามารถอยู่รอดได้ โดยไม่สูญเสียขีดความสามารถในการแข่งขัน และคุณภาพสินค้าของตน

l Dynamic Capabilities คืออะไร?

Dynamic Capabilities หรือ ความสามารถเชิงพลวัต แนวคิดซึ่งถูกกล่าวถึงจากงานวิจัยของ David Teece, Gary Pisano และ Amy Shuen ว่าด้วยการปรับตัวขององค์กรให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลง ซึ่งมีใจความสำคัญ 3 ข้อ ดังนี้

  1. Sensing การรับรู้โอกาสจากภายนอกองค์กร

  2. Seizing การใช้ทรัพยากรณ์ที่มีอยู่เดิม “คว้า” โอกาสนั้นเป็นของตน เพื่อสร้างขีดความสามารถการแข่งขันในระยะสั้น

  3. Transforming ปรับเปลี่ยนโอกาสให้กลายเป็นเงิน และความได้เปรียบขององค์กรในระยะยาว

 

ซึ่ง METI ได้ยกตัวอย่างองค์กรที่ประสบความสำเร็จในการนำ Dynamic Capabilities คือ Fujifilm ปรับเปลี่ยนธุรกิจจาก ฟิล์มถ่ายภาพ มาเป็น ฟิล์มทางการแพทย์ ในขณะที่ Daikin มีไลน์การผลิตที่ยืดหยุ่น รองรับการเปลี่ยนแปลงภายนอกได้เป็นอย่างดี

 

l แล้วจะนำ Dynamic Capabilities มาใช้อย่างไร?

“Monozukuri White Paper” แนะนำผู้ผลิตว่า สิ่งที่จะเข้ามาช่วยให้ Dynamic Capabilities กลายเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรได้นั้น อย่างแรกจะต้องรวบรวมข้อมูลที่มีอยู่ทั้งหมดให้เป็นข้อมูลดิจิทัล และใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) เข้ามาช่วย เนื่องจาก AI สามารถช่วยลดระยะเวลาที่ใช้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ผ่านการทำแบบจำลองซิมูเลชัน (Simulation) และการวิเคราะห์ข้อมูลที่รวดเร็ว เพื่อให้สายการผลิตมีความยืดหยุ่นยิ่งขึ้น 

METI แสดงความเห็นว่า การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ไม่ได้หมายถึงการลงทุนเครื่องจักรเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการตัดสินใจจากข้อมูลที่มีอยู่แทนการใช้ความรู้สึก ซึ่งองค์กรที่มีขุมข้อมูลเป็นของตนอยู่แล้ว ก็จะสามารถปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงได้ง่ายและรวดเร็ว รวมถึงสามารถฝึกอบรมบุคลากรได้อย่างเหมาะสมต่อปัจจัยภายนอกได้ดีกว่าองค์กรที่ไม่มีการเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นหลักคิดเดียวกับการรวบรวมข้อมูลตามเทรนด์ Digital Transformation นั่นเอง

อีกข้อหนึ่งที่มีการแนะนำ คือ การออกแบบผลิตภัณฑ์ ต้องให้ความสำคัญกับการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ตรงต่อความต้องการของตน ทั้งในแง่รายละเอียด คุณลักษณะ และต้นทุนการผลิต อย่างไรก็ตาม การออกแบบควรเหลือพื้นที่สำหรับความเปลี่ยนแปลงไว้ด้วย ซึ่งสัดส่วนที่ METI เสนอ คือการออกแบบให้สิ้นสุดที่ 80% ในขณะที่อีก 20% ที่เหลือ จะเป็นส่วนที่ต้องเปลี่ยนแปลงตามกลยุทธ์ของบริษัท และสถานการณ์ภายนอกในขณะนั้น

จากข้อมูลล่าสุด ณ เดือนธันวาคม 2019 Mitsubishi UFJ Financial Group รายงานว่า ปัจจุบันผู้ผลิตญี่ปุ่นส่วนใหญ่ออกแบบผลิตภัณฑ์ในรูปแบบข้อมูล 3D และจัดส่งในรูปแบบ 2D เป็นหลัก ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ 44.3% ในขณะที่ผู้ผลิตที่ออกแบบเป็น 2D มีสัดส่วน 26.5%, 3D 17.0%, และผู้ผลิตที่ไม่ออกแบบบนคอมพิวเตอร์ 12.2% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าปัจจุบัน การออกแบบส่วนใหญ่ของอุตสาหกรรมการผลิตญี่ปุ่นเป็นข้อมูลดิจิทัลแล้ว


ในทางกลับกัน การนำข้อมูลดิจิทัลมาใช้ในกระบวนการผลิต และการตลาดยังมีสัดส่วนไม่มากนัก โดยรายงานฉบับเดียวกันระบุว่า ตั้งแต่ปี 2016 ถึงปี 2019 ผู้ผลิตที่ไม่เก็บบันทึกข้อมูลการผลิต มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 33.4% เป็น 49.0% สืบเนื่องจากเล็งเห็นว่าการเก็บข้อมูลตลอดกระบวนการผลิตเป็นการใช้งบประมาณที่ไม่คุ้มค่า ซึ่งรัฐบาลญี่ปุ่นมีความเห็นว่า หากต้องการสอดรับกับความต้องการในตลาด และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ ผู้ผลิตญี่ปุ่นจำเป็นเปลี่ยนความคิดเช่นนี้ก่อน


l 5G, IT, และบุคลากรยุค New Normal

แน่นอนว่าในระยะยาว ทรัพยากรณเดิมขององค์กรย่อมไม่อาจสร้างขีดความสามารถการแข่งขันที่ยั่งยืน ซึ่ง METI เสนอว่า เทคโนโลยีที่จะเข้ามาตอบโจทย์ในส่วนนี้คือ 5G ที่จะช่วยให้การรวบรวมข้อมูลมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมไปถึงรูปแบบการทำงานขององค์กรที่ยืดหยุ่น ด้วยการเชื่อมต่อไร้สายที่รวดเร็ว ไปจนถึงการทำงานในสายการผลิตด้วยหุ่นยนต์โรงงาน, โดรน, หรือ Automated Guided Vehicle (AGV) ที่จะช่วยอุดช่องโหว่ทางด้านทักษะระหว่างองค์กรให้น้อยลง

แต่ในอีกด้านหนึ่ง METI ยอมรับว่าแนวโน้มเช่นนี้เอง ที่จะทำให้บุคลากรทาง IT เป็นที่ต้องการตัวในภาคการผลิตยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบัน ผู้ผลิตญี่ปุ่นขาดบุคลากรด้านนี้เป็นอย่างมาก และเล็งเห็นว่า วิศวกรในอนาคต จะต้องมีทักษะ IT และคณิตศาสตร์สูงกว่าที่ผ่านมา ซึ่งไม่เพียงแต่อุตสาหกรรมการผลิตเท่านั้น แต่บุคลากรที่มีความสามารถในการเรียนรู้ และปรับตัวนี้เอง ที่จะเป็นที่ต้องการมากยิ่งขึ้นในตลาดยุค New Normal

 

l บทสัมภาษณ์หัวหน้าแผนกอุตสาหกรรมการผลิต METI

Mr. Osamu Takata หัวหน้าแผนกอุตสาหกรรมการผลิต METI

 

มีความเห็นอย่างไรต่อ Monozukuri White Paper ฉบับปี 2020

“ที่ผ่านมา เรากังวลกับความไม่แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อซัพพลายเชนหรือไม่ จนกระทั่งวิกฤตการณ์โควิด-19 คือคำตอบที่ชัดเจน เมื่อต้นน้ำไม่อาจผลิตได้ ปลายน้ำก็จะไม่อาจผลิตได้ ดังนั้นการที่ Dynamic Capabilities ถูกยกขึ้นมาพูดถึงในเอกสารฉบับนี้จึงเป็นเรื่องที่เหมาะสม หากผู้ผลิตรับรู้ถึงความเสี่ยงก่อน ก็ย่อมสามารถปรับตัวได้ก่อน อย่างในประเทศญี่ปุ่นเอง ผู้ผลิตที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ก็ปรับตัวได้รวดเร็วกว่าผู้ผลิตที่ไม่ใช้เทคโนโลยีเป็นอย่างมาก”

ความคิดเห็นต่อการออกแบบผลิตภัณฑ์เป็นอย่างไร

“จุดแข็งของอุตสาหกรรมญี่ปุ่น คือการแก้ไขชิ้นงานไปตามการผลิต อย่างไรก็ตาม ชิ้นงานและผลิตภัณฑ์ที่ไม่ถูกออกแบบให้รองรับการปรับแก้ย่อมมีขีดจำกัด ซึ่งส่วนตัวผมคิดว่า ในอนาคตซัพพลายเชนจะมีผลต่อการออกแบบผลิตภัณฑ์มากยิ่งขึ้น”

มีความเห็นอย่างไรต่อการรวบรวมข้อมูลในสายการผลิตที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

“ผู้ผลิตหลายรายมีความคิดว่า Digital Transformation เป็นเพียงการตื่นตูม ไม่อาจใช้งานจริงได้ หรือทดลองใช้แล้วพบว่าไม่คุ้มค่า แต่ในความเป็นจริงแล้ว ปัญหาที่พบคือผู้ผลิตทำเพียงแค่เก็บข้อมูล แต่ไม่ทำความเข้าใจว่า ข้อมูลที่ได้คืออะไร สามารถนำมาพัฒนาสายการผลิตได้หรือไม่ จึงล้มเลิกการลงทุนในด้านนี้เสียก่อน”

มีคำแนะนำอย่างไรในการนำแนวคิด Dynamic Capabilities มาใช้ในการผลิต 

“ผมยอมรับว่า การจะบอกให้ทุกคนนำแนวคิดนี้มาใช้เลยทันทีเป็นเรื่องยาก แต่เชื่อว่าในท้ายสุด ทุกคนก็จะนำมาใช้ด้วยตัวเอง เนื่องจากทุกบริษัทย่อมสังเกตความเคลื่อนไหวของคู่แข่งในตลาดอยู่แล้ว และสิ่งที่ได้จากการสังเกตคู่แข่งอาจได้ข้อมูลที่กลายเป็นโอกาส ซึ่งเป็นก้าวแรกของ Dynamic Capabilities นั่นเอง