เจาะรหัส TNI สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น บ่มเมล็ดพันธุ์ พร้อมผลิบานในธุรกิจอุตสาหกรรม

เจาะรหัส TNI สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น บ่มเมล็ดพันธุ์ พร้อมผลิบานในธุรกิจอุตสาหกรรม

อัปเดตล่าสุด 5 ม.ค. 2564
  • Share :
  • 4,486 Reads   

หน่วยงานภาคการศึกษา คือ กระดุมเม็ดบนที่สร้าง “คนในวันนี้” สู่ “บุคลากรในวันหน้า” ผู้ที่มีความรู้ความสามารถในสายอาชีพต่าง ๆ ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญต่อองค์กร ประเทศ ไปจนถึงนานาชาติ

สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น หรือ TNI (Thai-Nichi Institute of Technology) สถาบันอุดมศึกษาเอกชนซึ่งเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีเฉพาะทาง ก่อตั้งขึ้นโดยสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) หรือ ส.ส.ท. เปิดสอนหลักสูตรระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ที่เน้นเทคโนโลยีด้านวิศวกรรม สารสนเทศ และการบริหารจัดการ เพื่อผลิตบุคลากรป้อนให้แก่สถานประกอบการภาคอุตสาหกรรมของไทยนับตั้งแต่ปี 2006 จนถึงปัจจุบัน โดย รศ.ดร. บัณฑิต โรจน์อารยานนท์ อธิการบดี และ รศ.ดร. ชุมพล อันตรเสน คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้ร่วมพูดคุยกับ M Report ถึงประเด็นความท้าทายของภาคการศึกษาในการสร้างคนวันนี้สู่บุคลากรในวันหน้า 

ภาคการศึกษามองเห็นภาพ “บุคลากรวันหน้า” ได้อย่างไร 

เมื่อเปรียบเทียบโรงงานกับสถานศึกษาแล้วจะพบว่ามีภาระกิจหลักที่เหมือนกัน คือ “การผลิต” โรงงานผลิตสินค้า ขณะที่สถานศึกษาผลิตบุคลากร โดยการผลิตนั้นจำเป็นต้องทราบความต้องการของลูกค้าเพื่อกำหนดรายละเอียดในการผลิต ซึ่งในขั้นตอนนี้ของโรงงานคงไม่ยากเกินไปนัก แต่เมื่อเป็นสถานศึกษาแล้ว การกำหนดรายละเอียดในการผลิตบุคลากร เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของโลกอนาคตไม่ใช่เรื่องง่าย

รศ.ดร. บัณฑิต โรจน์อารยานนท์ แสดงความเห็นว่า “ปัจจุบัน ประเทศไทยมีศักยภาพการผลิตติดอันดับ 1 ใน 20 ของโลก และอันดับ 2 ในอาเซียนรองจากสิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม ในอีก 4-5 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะเริ่มตกยุคจากการย่ำอยู่กับที่ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ต่อไป เวียดนาม และมาเลเซีย ก็จะสามารถแซงหน้าประเทศไทยได้ภายใน 10 ปีนี้ ผนวกกับปัญหาการขาดแคลนบุคลากรในตลาดแรงงานไทย โดยเฉพาะบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ สวนทางกับเวียดนามที่มีนักศึกษาเรียนจบปีละหลายหมื่นคน และจีนที่มีนักศึกษาเรียนจบปีละหลายแสนคน หากไทยต้องการอยู่รอดในอุตสาหกรรมต่อไป การสร้างองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยียุคใหม่จึงเป็นสิ่งที่ขาดไปไม่ได้”

ด้วย TNI เป็นสถาบันการศึกษาที่ก่อตั้งโดย ส.ส.ท. ซึ่งมีรากฐานจากความร่วมมือร่วมใจและความเสียสละของกลุ่มบุคคลที่เคยไปศึกษาและฝึกงานในประเทศญี่ปุ่น และได้รับการสนับสนุนด้านการดำเนินกิจกรรมจากกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (METI) ประเทศญี่ปุ่น เพื่อส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีใหม่ ๆ แก่บุคลากรไทย ทำให้มีนักลงทุนและผู้ประกอบการทั้งไทยและญี่ปุ่นแวะเวียนเข้ามาที่ TNI อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจุดนี้เองทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร และความเคลื่อนไหวในแวดวงอุตสาหกรรม เทรนด์ใหม่ ๆ ที่กำลังอยู่ในความสนใจ รวมถึงมุมมองจากนักลงทุนและนักธุรกิจ องค์ประกอบสำคัญนี้ทำให้ TNI มีภาพแห่งอนาคตที่อยู่บนหน้าเดียวกันกับโลกธุรกิจอุตสาหกรรมตลอดเวลา ซึ่งนำไปสู่การจัดสรรให้มีความพร้อมของทรัพยากรอย่างเหมาะสมและทันต่อการเปลี่ยนแปลงเพื่อใช้ในการผลิตบุคลากร ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาหลักสูตรการเรียน การฝึกอบรม การจัดหาเทคโนโลยี เครื่องจักร เครื่องมือและอุปกรณ์ การคัดสรรคณาจารย์และสรรหาผู้เชี่ยวชาญมาเป็นวิทยากร รวมถึงหน่วยงานและบริษัทที่จะเป็นโอกาสให้นักศึกษาได้ร่วมฝึกงานและทำงานต่อไป ทำให้การเข้าเรียนที่สถาบัน TNI มีจุดเด่นที่น่าสนใจ ดังนี้

  • มีทักษะด้านภาษา ไทย-อังกฤษ-ญี่ปุ่น
  • ร่วมโครงการแลกเปลี่ยน อาเซียน-ญี่ปุ่น
  • เรียนรู้แบบญี่ปุ่น Monozukuri ทั้งทฤษฎีและปฏิบัติจริง
  • มีทุนการศึกษา
  • เข้าฝึกงานหรือสหกิจกับบริษัทชั้นนำไทย-ญี่ปุน 
  • เรียนจบมีงานทำ 100%

สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ถูกดำเนินไปภายใต้ค่านิยมหลักที่หล่อหลอมนักศึกษา ณ สถาบัน TNI แห่งนี้ ซึ่งเรียกตัวเองว่า “เด็กไทย-ญี่ปุ่น” ให้มีคุณลักษณะ 6 ด้าน ได้แก่ 1. Monozukuri (คิดเป็น ทำเป็น) 2. Kaizen (ปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง) 3. Hansei (Self-Reflection พิจารณาและปรับปรุงตนเองก่อน) 4. Honest (ซื่อสัตย์ ไม่คดโกง ไม่เอาเปรียบผู้อื่น) 5. Respect (ให้เกียรติตนเองและผู้อื่น) 6. Public-Interest Conscious (ตระหนักถึงประโยชน์ส่วนรวม)  

สิ่งสำคัญที่ไทยยังขาดแคลน 

#1 เทคโนโลยีดิจิทัล

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการมาถึงของเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทุกภาคส่วน ซึ่งภาคอุตสาหกรรมการผลิตเองก็ไม่อาจหลีกเลี่ยง Digital Disruption ที่กำลังเกิดขึ้นได้ ซึ่งเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการผลิตสมัยใหม่เป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นส่วนสำคัญของเทคโนโลยีสำหรับโรงงานอัจฉริยะ หรือ Smart Factory ดังนั้น หากจะกล่าวว่าเทคโนโลยีดิจิทัลคือรากฐานสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคตก็ไม่ใช่เรื่องที่เกินจริง 

รศ.ดร. บัณฑิต โรจน์อารยานนท์ ได้หยิบยกตัวอย่างที่ชัดเจนเรื่องนี้ไว้ว่า “ในหลายประเทศมีธุรกิจยูนิคอร์นซึ่งสามารถก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในเวทีโลก ไปจนถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นและเป็นที่นิยมแพร่หลายไปทั่วโลก แต่ประเทศไทยยังคงไม่มีความสามารถในด้านนี้”

#2 เทคโนโลยีสมัยใหม่

ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า เทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างระบบอัตโนมัติจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมมากขึ้น ช่วยให้ผลผลิตสูงขึ้นในทุกภาคส่วนโดยไม่มีข้อยกเว้น ซึ่งหากไม่ปรับตัวก็จะเสียโอกาส แต่ในความเป็นจริงแล้ว การจะให้ความสำคัญทุกด้านเท่ากันเป็นเรื่องยาก จึงควรต้องโฟกัสอะไรที่เรียลลิสติก ทำได้จริง เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทย ซึ่งอุตสาหกรรมที่ไทยทำได้ดี มีประสบการณ์ มีเครือข่าย เพราะทำมานานและมีต่างชาติสนับสนุน เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพและต่อยอดได้

การขาดความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีสมัยใหม่คือจุดอ่อนของอุตสาหกรรมไทย ซึ่งแม้ว่าปัจจุบันไทยจะยังคงมีจุดแข็งในอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยมีศักยภาพในอุตสาหกรรมนี้เป็นทุนเดิมจากการเข้ามาลงทุนฐานการผลิตยานยนต์จากบริษัทญี่ปุ่นหลายราย และมีมูลค่าการส่งออกรวมกว่า 860,000 ล้านบาท เป็นมูลค่ามากที่สุดของสินค้าส่งออกของไทยในปี 2019 แต่ปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์ก็อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อจากการมาของรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV)

#3 นโยบายที่สร้างผลสัมฤทธิ์

หากประเทศไทยต้องยืนหยัดให้ได้ในสนามแข่งขัน  ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีสมัยใหม่นี้ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องถูกแก้ไข เนื่องจากการสร้างบุคลากรนั้นต้องอาศัยเวลา การปรับเปลี่ยนหลักสูตรการศึกษาไม่อาจเห็นผลได้ในทันที ซึ่งที่ผ่านมา รัฐบาลได้จัดโครงการอัพสกิล และรีสกิลอยู่บ้าง แต่การมาของโควิดทำให้โครงการเหล่านี้หยุดชะงักลง ซึ่งแน่นอนว่าสำหรับธุรกิจรายใหญ่ย่อมสามารถพัฒนาบุคลากรได้ด้วยตัวเอง แต่กับธุรกิจ SME แล้ว ช่องว่างทางทักษะมีแต่จะเพิ่มมากยิ่งขึ้นหากไม่ได้รับการสนับสนุน

ด้วยเหตุนี้เอง การวางแนวนโยบายของภาครัฐที่ตรงจุดและสร้างผลสัมฤทธิ์ได้จะส่งเสริมอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างดี โดยตัวอย่างหนึ่งที่เห็นว่ารัฐบาลของสิงคโปร์ทำได้ดีและน่าจะนำมาพิจารณาปรับใช้ได้กับไทย โดยสิงคโปร์มีมาตรการกำหนดให้ทุกบริษัทต้องให้สิทธิพนักงานในการเข้าอบรมเป็นระยะเวลาหนึ่งเดือนต่อปี ตั้งแต่เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมา ประเทศไทยก็เคยมีนโยบายสนับสนุนการพัฒนาบุคลการอยู่บ้าง เช่น นโยบายของกระทรวงแรงงานในช่วง 15 ปีก่อน ซึ่งกำหนดให้บริษัทที่มีพนักงานเกินร้อยคนส่งพนักงานไปอบรม และมีมาตรการจูงใจ เช่น ยิ่งส่งคนไปอบรมมากก็ยิ่งลดหย่อนภาษีได้มาก การช่วยเหลือค่าใช้จ่ายสำหรับนักศึกษาวิศวกรรม เป็นต้น

#4 ค่านิยมในวิชาชีพ

ปัจจุบัน สถาบัน TNI รับนักศึกษาเฉลี่ยปีละ 1,000 คน แต่จำนวนนักศึกษาที่เรียนจนจบในแต่ละปีประมาณ 800 คน ซึ่งน้อยกว่าจำนวนสมัครเข้าเรียน 20-30% โดยมีเด็กจบวิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ ไอที คณะละ 200 คน และบริหารธุรกิจ 400 คน จำนวนที่หายไปส่วนใหญ่แล้วเป็นนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ เนื่องจากเรียนยาก ต้องมุ่งมั่น ตั้งใจ และทุ่มเทอย่างหนัก ประกอบกับค่านิยมในวิชาชีพของยุคสมัยปัจจุบันทำให้จำนวนนักศึกษาคณะวิศวฯ ลดน้อยลงไป ปัญหานี้ก็จะเป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้จำนวนบุคลากรในภาคอุตสาหกรรมมีตัวเลือกที่น้อยลงไปอีก 

รศ.ดร. ชุมพล อันตรเสน แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า “เมื่อ20 ปีที่แล้ว คณะวิศวฯ เป็นหนึ่งในสาขายอดฮิต ซึ่งสวนทางกับปัจจุบัน เด็กและผู้ปกครองไม่เข้าใจว่าคณะวิศวะฯ เรียนเกี่ยวกับอะไร ไม่เห็นอนาคตว่าเรียนจบแล้วทำงานอะไร จึงต้องพยายามสร้างความเข้าใจ และให้ข้อมูลถึงความต้องการของตลาดแรงงานที่ยังขาดแคลนวิศวกร นอกจากนี้ ยังเป็นสายอาชีพที่มีรายได้ดีอีกด้วย”

รศ.ดร. ชุมพล อันตรเสน คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น 

การแก้ปัญหาเรื่องค่านิยมจึงเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันจากทุกฝ่าย เห็นได้จากประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีการเปิดประเทศในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับไทย แต่สามารถพัฒนาตัวเองจนมีศักยภาพเป็นผู้นำในหลายอุตสาหกรรม และมีซัพพลายเชนที่มั่นคงได้ในปัจจุบัน ซึ่งมาจากการร่วมสร้างค่านิยมให้พัฒนาเทคโนโลยีและผลิตสินค้าใช้เองในประเทศ แตกต่างกับไทยที่เน้นซื้อเทคโนโลยีและสินค้าจากต่างชาติ

เรียนรู้ “เทคโนโลยีเดียวกันกับที่ใช้จริงในโรงงาน”

สำหรับการเรียนรู้เทคโนโลยีนั้นจำเป็นต้องมีเครื่องมือและอุปกรณ์เพื่อจะสามารถเข้าใจและนำเทคโนโลยีมาใช้ได้จริง รวมถึงได้ฝึกฝนทักษะอีกด้วย ซึ่ง TNI เลือกลงทุนเทคโนโลยีเดียวกันกับที่ใช้จริงในโรงงาน แม้จะมีราคาสูง เช่น การลงทุนซอฟต์แวร์ 3D CAD ในสาขาวิชาวิศวกรรมยานยนต์ ซึ่งเป็นโปรแกรมสำหรับการออกแบบชิ้นส่วนยานยนต์แบบเดียวกับที่โตโยต้าและฮอนด้าใช้งาน เพื่อให้นักศึกษาได้ใช้ตั้งแต่ปีหนึ่ง แต่มองว่าสิ่งนี้เองที่ทำให้เด็กเรียนจบจาก TNI สามารถทำงานได้ทันที ช่วยลดช่องว่างและเพิ่มโอกาสความสำเร็จในการเข้าสู่เส้นทางอาชีพหลังเรียนจบ 

ปัจจุบัน TNI มีแนวทางการปรับปรุงหลักสูตรที่มุ่งให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีดิจิทัลและเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้ปีนี้เองสถาบัน TNI ตัดสินใจลงทุนซอฟต์แวร์ Tecnomatix Plant Simulation จาก Siemens ซึ่งเป็นโซลูชันเพื่อการผลิตยุคดิจิทัล ใช้ออกแบบสายการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยได้รับการสนับสนุนด้านเทคนิคและบริการอย่างดีจาก ISID หรือ บริษัท ไอเอสไอดี เซ้าท์อีส เอเชีย (ไทยแลนด์) ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายและให้คำปรึกษาด้านกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และให้บริการทางวิศวกรรมระบบที่มุ่งเน้นการสร้างและใช้ประโยชน์จากโซลูชันโรงงานอัจฉริยะ

ซอฟต์แวร์ Tecnomatix Plant Simulation คือ โซลูชันการผลิตยุคดิจิทัลสำหรับการออกแบบและวางแผนกระบวนการผลิต เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ตอบสนองความต้องการของลูกค้าและตลาดได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ด้วยการจำลองโรงงานและกระบวนการต่าง ๆ ในสายการผลิต ทำให้ทราบถึงกำลังการผลิต โลจิสติกส์ทั้งระบบ ประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องจักรและพนักงาน รวมถึงปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งงานที่เป็นคอขวด งานคงค้างในกระบวนการผลิต และอื่น ๆ  โดยแบบจำลองที่สร้างขึ้นสามารถนำไปใช้ได้ทั้งก่อนการสร้างกระบวนการผลิตจริง เพื่อวิเคราะห์เหตุการณ์และปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น และปรับปรุงประสิทธิภาพของกระบวนการผลิตที่มีอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงใช้แบบจำลองในการสร้าง What-if Scenario ในกรณีเกิดการเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิต เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาและช่วยประเมินสถานการณ์ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ ทำให้ตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วทันท่วงที

“ปัจจุบัน หลักสูตรปริญญาตรีของคณะวิศวกรรมศาสตร์ TNI สาขาวิชาที่มีการเรียนการสอนและเป็นที่นิยม คือ วิศวกรรมยานยนต์ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมไฟฟ้า และวิศวกรรมอุตสาหการ อย่างไรก็ตาม ด้วยเงื่อนไขการเติบโตอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีอัตโนมัติและดิจิทัล ทาง TNI จึงมีการพัฒนาหลักสูตรเพิ่มเติมเมื่อเร็ว ๆ นี้ คือหลักสูตรหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติแบบลีน และหลักสูตรวิศวกรรมดิจิทัล โดย TNI เป็นสถาบันแห่งแรกในไทยที่มีการเปิดสอนสองหลักสูตรนี้ ซึ่งเหมาะกับตลาดแรงงานในอนาคต 5 ปีข้างหน้าจากความต้องการบุคลากรด้านเทคโนโลยีดิจิทัลจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก จะเห็นว่า สถาบันฯ มีความยืดหยุ่นสูง มีความพร้อมปรับปรุงหลักสูตรให้ทันสมัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจ” รศ.ดร. ชุมพล อันตรเสน สรุปทิ้งท้าย