การขาดแคลนแรงงาน-อุตสาหกรรมการผลิต

‘การขาดแคลนแรงงาน’ ความท้าทายใหญ่ของภาคการผลิต

อัปเดตล่าสุด 1 ม.ค. 2567
  • Share :
  • 41,309 Reads   

คนรุ่นใหม่ไม่อยากทำงานในภาคการผลิต ทำให้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานยังเป็นความความท้าทายใหญ่ ซึ่งการใช้ Automation จะเป็นกุญแจดอกสำคัญ และเปลี่ยนภาพลักษณ์ให้เป็นงานทันสมัย มีความก้าวหน้า

เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2023 สมาคมเพื่อความก้าวหน้าของออโตเมชัน หรือ A3 (Association for Advancing Automation) สหรัฐอเมริกา เผยว่า อุตสาหกรรมการผลิตกำลังอยู่ในช่วงวิกฤต เมื่อผลสำรวจจากสมาคมผู้ผลิตแห่งชาติระบุ 75.7% ของผู้ผลิตยกให้การดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีคุณภาพเป็นความท้าทายอันดับหนึ่ง

Advertisement

การขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิตทั่วโลก

ข้อมูลจากสำนักงานแรงงานและสถิติแห่งสหรัฐอเมริการะบุว่า แม้ปัจจุบันอัตราการว่างงานจะอยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ แต่อุตสาหกรรมการผลิตของสหรัฐฯ ก็ยังมีตำแหน่งงานราว 750,000 ตำแหน่งที่ยังว่างอยู่ ในขณะที่ะ Deloitte Insights คาดการณ์ว่า อุตสาหกรรมการผลิตสหรัฐฯ จะขาดแคลนแรงงานมากถึง 2.1 ล้านตำแหน่งในปี 2030

จีนเองก็ประสบปัญหาคล้ายคลึงกัน โดยนาย Lian Jye Su ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย ABI Research เผยว่า 60% ของแรงงานในโรงงานจีนเป็นผู้ที่เกิดระหว่างปี 1975 - 1985 และมีคนหนุ่มสาวจำนวนน้อยมากที่สนใจอาชีพด้านการผลิต เนื่องจากความคาดหวังเรื่องเงินเดือนและระดับการศึกษาที่สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ภาคการผลิตยังคงต้องผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ รวดเร็ว ประหยัดต้นทุน และปลอดภัย ซึ่งสวนทางกับอัตราการเกิดที่ลดลง ทำให้การขาดแคลนแรงงานจะยังคงเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมการผลิตต่อไป และทางออกเดียวที่จะแก้ไขปัญหานี้ได้คือระบบอัตโนมัติ

ทางออกนี้สอดคล้องกับผลสำรวจของสมาคมผู้ผลิตแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา (National Association of Manufacturers: NAM) เผยว่า 65.3% ของผู้ตอบแบบสอบถามกำลังลงทุนเครื่องจักรและเทคโนโลยีใหม่

การใช้ออโตเมชันแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน

การขาดแคลนแรงงานทำให้การนำออโตเมชันมาใช้มีความเร่งด่วนมากกว่าที่แล้วมา และเป็นที่ทราบกันดีว่า ออโตเมชันช่วยแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานได้ อีกทั้งยังช่วยปรับปรุงการผลิตในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำงานตลอด 24 ชั่วโมง การเพิ่มคุณภาพผลิตภัณฑ์ และการผลิตชิ้นงานในปริมาณที่มากขึ้น

DHL เป็นหนึ่งในบริษัทหนึ่งที่ประสบปัญหาขาดแคลนพนักงาน โดยเฉพาะในตำแหน่งขนถ่ายสินค้าจากรถบรรทุก ซึ่ง DHL ได้ร่วมมือกับ Boston Dynamic ลงทุนเป็นมูลค่าหลายล้านดอลลาร์สหรัฐ พัฒนาหุ่นยนต์ “Stretch” แพลตฟอร์มเคลื่อนที่สำหรับการจัดการเคสแบบอัตโนมัติ มาพร้อมกับแขนหุ่นยนต์อิสระ อุปกรณ์จับยึดแบบปรับได้ ระบบวิชั่นขั้นสูง และชุดแบตเตอรี่ความจุสูง เพื่อให้ Stretch ทำงานตลอดกะได้ด้วยการชาร์จไฟเพียงครั้งเดียว ซึ่ง DHL มีแผนนำหุ่นยนต์รุ่นนี้มาใช้งานในโรงงานหลายแห่งภายในปี 2023 นี้

“ช่างควบคุมเครื่องจักร” เป็นอีกตำแหน่งที่ภาคการผลิตขาดแคลนอย่างรุนแรง โดยนาย Jordan Kretchmer CEO และผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Rapid Robotics แสดงความเห็นว่า โดยทั่วไปแล้ว ออโตเมชันมีกำแพงหลายด้านที่ทำให้ผู้ผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง SME เริ่มใช้งานได้ยาก ไม่ว่าจะเป็น Lead Time ในการนำมาใช้ ต้นทุนแฝงในการติดตั้ง

หนึ่งในโซลูชันที่ช่วยแก้ปัญหานี้ได้ คือ ธุรกิจหุ่นยนต์ให้เช่า (Robot as a Service: RaaS) ช่วยลดต้นทุนจากเงินลงทุนก้อนใหญ่มาเป็นค่าใช้จ่ายที่บริหารจัดการได้ง่ายกว่า

ผลการศึกษาของ Rapid Robotics ต่อผู้มีอำนาจตัดสินใจในอุตสาหกรรมการผลิต 300 ราย เผยว่า ผู้มีอำนาจตัดสินใจมากถึง 92% มีการจ้างงานช่างควบคุมเครื่องจักรอย่างเข้มข้น และมากกว่า 60% จำเป็นต้องจากช่างควบคุมเครื่องจักรเพิ่มอย่างน้อย 6 คน และพบว่า 2 ใน 3 มีการเพิ่มกระบวนการอัตโนมัติในปีที่ผ่านมา โดยเกือบ 80% มีแผนเพิ่มออโตเมชันใน 12 เดือนข้างหน้า

“ออโตเมชัน” ไม่เพียงแต่จะช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน แต่ยังช่วยเปลี่ยนพนักงานเดิมให้ไปทำงานที่มีมูลค่าสูงกว่าอีกด้วย ทำให้บริษัทสามารถรับงานได้กว้างและหลากหลายยิ่งขึ้น 

นาย Joe Campbell ผู้จัดการอาวุโส แผนกพัฒนาแอปพลิเคชันจาก Universal Robots กล่าวว่า การขาดแคลนแรงงานในภาคการผลิตไม่มีทางแก้ปัญหาที่รวดเร็ว อัตราการว่างงานในสหรัฐฯ ตกต่ำสุดตั้งแต่ปี 1969 คนอายุน้อยก็ไม่มีความสนใจในอุตสาหกรรมการผลิต ในขณะที่คนอายุมากทยอยเกษียณอายุออกจากงาน จนเกิดการว่างงานในอุตสาหกรรมผลิตเป็นอย่างมาก และการแก้ไขต้องอาศัยความพยายามในระยะยาว ซึ่งแนวทางหนึ่งที่นาย Campbell เสนอ คือ การใช้โอกาสที่คนรุ่นใหม่โตมากับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้เป็นประโยชน์ เช่น ดึงดูดด้วยการโปรแกรมโคบอทส์ (Cobots) ผ่านสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต ซึ่งเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่คุ้นเคย

 

#ขาดแคลนแรงงาน #อุตสาหกรรมการผลิต #Automation #Mreport #mreportth #ข่าวอุตสาหกรรม

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH