PwC เผยมาตรฐานการบัญชีและเทคโนโลยีเกิดใหม่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว แนะนักบัญชีและผู้สอบบัญชีเตรียมรับมือ

อัปเดตล่าสุด 18 ต.ค. 2560
  • Share :
  • 1,195 Reads   

PwC ประเทศไทย เผยเทคโนโลยีเข้ามามีอิทธิพลต่อการดำเนินธุรกิจและการจัดทำรายงานทางการเงิน โดยเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ (Robotic Process Automation) และเครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูล (Analytical tools) จะถูกนำมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการรายงานทางการเงิน พร้อมแนะนักบัญชีและผู้บริหารทำความเข้าใจมาตรฐานการบัญชีฉบับใหม่ เรื่องการรายงานรายได้ในการดำเนินธุรกิจของกิจการ ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ และสัญญาเช่า เพื่อรู้ทันผลกระทบและสามารถรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายชาญชัย ชัยประสิทธิ์ หุ้นส่วนสายงานตรวจสอบบัญชี บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนาประจำปี PwC Thailand Symposium 2017 ในหัวข้อ “รู้ทันการเปลี่ยนแปลง และเตรียมตัวรับมือความท้าทายทางบัญชีในยุคดิจิทัล” (Dealing with accounting challenges, thriving on disruption) ว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีอิทธิพลต่อลักษณะการทำธุรกิจและส่งผลให้การจัดทำรายงานทางการเงินเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ โดยหลายกิจการได้มีการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการทำงานมากขึ้น อาทิ ระบบอัตโนมัติ (Robotic Process Automation) และเครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูล (Analytical tools) เป็นต้น

ชาญชัย ชัยประสิทธิ์

“เทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยในการจัดทำบัญชี วิเคราะห์ ตรวจจับความผิดปกติของข้อมูล ช่วยลดการทำงานซ้ำ ๆ หรืองานประเภท Routine งานที่ใช้เวลาเยอะ ๆ หรือใช้การตัดสินใจน้อย แต่เทคโนโลยีจะยังไม่สามารถเข้ามาแทนที่การทำงานของนักบัญชีได้อย่างเต็มที่ เพราะความรับผิดชอบและความสามารถในการตัดสินใจที่ต้องอาศัยประสบการณ์ยังคงเป็นหัวใจหลักของการทำงานด้านบัญชีอยู่” นายชาญชัยกล่าว

นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ภายหลังจากเทคโนโลยีดิจิทัลได้เข้ามามีบทบาทต่อการดำเนินกิจการและมีอิทธิพลต่อความต้องการของลูกค้า ทำให้การรายงานทางการเงินเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยได้มีการนำเสนอแนวคิดและหลักการใหม่ ๆ เพื่อให้สะท้อนภาพที่แท้จริงของการดำเนินธุรกิจและรายการทางธุรกิจที่มีความซับซ้อนมากขึ้น และด้วยมุมมองที่มีความเที่ยงธรรมมากขึ้น ทั้งในส่วนของผลประกอบการของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นรายได้ หรือผลประกอบการด้านอื่นๆ

สำหรับมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น ได้แก่ การรายงานรายได้ในการดำเนินธุรกิจของกิจการ จากเดิมรายได้จะถูกรับรู้ตามหลักการโอนความเสี่ยงและผลตอบแทนในสินค้าไปยังผู้ซื้อ แต่ของใหม่รายได้จะถูกรับรู้ตามหลักการการควบคุม โดยต้องสะท้อนถึงการโอนการควบคุมสินค้าหรือบริการให้กับลูกค้า ด้วยจำนวนเงินที่สะท้อนถึงมูลค่าที่แท้จริงของสินค้าหรือบริการที่ได้ทำการโอนไปแล้ว เพื่อให้เกิดการเข้าใจได้และการเปรียบเทียบกันได้ของงบการเงิน

ในส่วนของค่าเผื่อการด้อยค่าของลูกหนี้ (ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ) ก็จะเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน โดยในอนาคตจะถูกกำหนดให้รับรู้เร็วขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับแนวทางปฏิบัติในปัจจุบัน โดยกิจการต้องมีการประมาณการขาดทุนที่อาจเกิดขึ้น ณ ขณะที่มีการรับรู้รายการลูกหนี้ตั้งแต่เริ่มแรก โดยจะต้องพิจารณาร่วมกับข้อมูลที่เป็นการคาดการณ์ไปยังอนาคต (Forward-looking information) เช่น ข้อมูลสภาวะเศรษฐกิจ ณ ปัจจุบัน หรืออัตราการว่างงาน เพื่อพิจารณาบันทึกค่าเผื่อการด้อยค่าของลูกหนี้ด้วย ดังนั้น จึงคาดการณ์ได้ว่า จะมีการรับรู้ค่าเผื่อการด้อยค่าของลูกหนี้ที่เร็วขึ้นและรับรู้ด้วยจำนวนเงินที่สูงขึ้น

นอกจากนี้ การจัดทำงบการเงินเกี่ยวกับสัญญาเช่า ด้านผู้เช่าก็จะมีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน จากเดิมกำหนดให้กิจการต้องจัดประเภทสัญญาเช่า ระหว่างสัญญาเช่าการเงินและสัญญาเช่าดำเนินงานซึ่งมีวิธีการทางบัญชีที่แตกต่างกัน แต่ของใหม่ไม่มีการจัดประเภทสัญญาเช่าอีกต่อไป และจะต้องรายงานตามข้อกำหนดที่ให้แสดงหนี้สินตามสัญญาเช่าในงบการแสดงฐานะการเงินของผู้เช่า จึงคาดการณ์ได้ว่า หนี้สินที่เกิดจากสัญญาเช่าจะเพิ่มขึ้นมา และส่งผลกระทบอย่างเป็นสาระสำคัญต่ออัตราส่วนทางการเงินของหลายกิจการ เช่น ทำให้อัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (Return on Asset: ROA) ลดลง และมีอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Debt to Equity ratio: D/E ratio) เพิ่มขึ้น เป็นต้น

“จะเห็นได้ว่า พัฒนาการทางการบัญชีที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อให้สะท้อนกับผลการดำเนินงานที่แท้จริงของธุรกิจที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้นนี้ ทำให้นักบัญชีต้องเร่งศึกษา ทำความเข้าใจ และตามมาตรฐานเหล่านี้ให้ทัน ยิ่งไปกว่านั้น ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องเร่งสร้างนักบัญชีที่มีความรู้ ความสามารถเพียงพอกับความต้องการของตลาด นอกจากนี้ กิจการที่มีหุ้นซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ ยังจำเป็นต้องพิจารณาถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นต่อรายงานทางการเงินของกิจการ และทำการสื่อสารข้อมูลเหล่านี้ให้กับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องภายนอกองค์กร ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงในการรายงานตัวเลขรายได้ และผลการดำเนินงานอื่นๆ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการความคาดหวังของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สร้างความไว้วางใจ และความเชื่อมั่นต่อบริษัทในการรับมือกับความท้าทายต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น”

นายชาญชัยกล่าวต่อว่า ด้วยความที่ปัจจุบันปริมาณของข้อมูลมีจำนวนมากมายมหาศาลและรายการมีความซับซ้อนมากขึ้น ผู้บริหารจึงจำเป็นที่จะต้องมีความเข้าใจและเลือกวิธีการจัดการที่เหมาะสมกับสภาพกิจการ รวมทั้งการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการ อาทิ ระบบอัตโนมัติ (Robotic Process Automation) และเครื่องมือวิเคราะห์ข้อมูล (Analytical tools) ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้บริหารสามารถเก็บรักษาข้อมูลที่สำคัญ เพื่อวัตถุประสงค์ในการรายงานทางการเงินได้ ในขณะเดียวกัน ก็สามารถจัดทำข้อมูลที่เป็นประโยชน์และเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจได้อย่างทันเวลา ซึ่งทั้งหมดจะช่วยให้ผู้บริหารสามารถจัดการกับความท้าทายดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลมากขึ้น

อย่างไรก็ดี แม้ว่าความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะเป็นสิ่งสำคัญ แต่ความรวดเร็วในการตัดสินใจในการรับมือและจัดการกับความเปลี่ยนแปลงก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะจะช่วยสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้กับกิจการที่มีความยืดหยุ่นและปรับตัวได้ทันกับสถานการณ์มากกว่า