ไทยกับโอกาสในธุรกิจ Medical Tourism ที่ไนจีเรีย

อัปเดตล่าสุด 8 พ.ย. 2562
  • Share :
  • 801 Reads   
เมื่อกล่าวถึงดินแดนแห่งโอกาสสำหรับการทำธุรกิจและการลงทุนในเขตภูมิภาคแอฟริกาตะวันตก ไนจีเรียถือเป็นประเทศหนึ่งที่น่าสนใจอย่างมาก เนื่องจากกำลังเป็นตลาดของผู้บริโภคที่ความต้องการขยายตัวมาก และศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศมีแนวโน้มพัฒนาที่ดีในอนาคต เห็นได้จากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไนจีเรียมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างก้าวกระโดด ไม่ว่าจะเป็นการขยายการก่อสร้างถนน ที่อยู่อาศัย รวมทั้งการขนส่งในรูปแบบต่าง ๆ ทำให้มีการพัฒนาสนามบิน การคมนาคม และการสื่อสาร โดยมีอัตราการใช้งานขยายตัวถึง 60% และ  ปัจจุบัน ไนจีเรียมีจำนวนประชากร 197 ล้านคน คิดเป็น 47% ของประชากรทั้งหมดในทวีปแอฟริกา โดยอาจกล่าวได้ว่าท่ามกลางชาวแอฟริกาทุก ๆ 4 คน จะมีคนไนจีเรีย 1 คน ซึ่งชาวไนจีเรียมีรายได้ปานกลางถึงสูงเพิ่มขึ้น และคาดว่าจะมีคนชนชั้นนี้เพิ่มขึ้นจาก 20% เมื่อปี 2562 เป็น 27% ภายในปี 2563
 
การพัฒนาทางเศรษฐกิจของไนจีเรียที่มีอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมให้ชาวไนจีเรียมีความสามารถ ในการจับจ่ายใช้สอยดีขึ้น และมีความต้องการเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดี การสาธารณสุขของไนจีเรียยังพัฒนาไม่มาก และไม่ตอบสนองความต้องการของชาวไนจีเรียในการเข้าถึงการแพทย์ที่มีคุณภาพและทันสมัย ส่งผลให้ชาวไนจีเรียเลือกเดินทางไปรักษาพยาบาลในต่างประเทศ สนับสนุนให้การท่องเที่ยวเชิงสุภาพ หรือ Medical Tourism ในตลาดไนจีเรียกำลังเติบโตอย่างมาก โดยในแต่ละเดือนจะมีคนไนจีเรียประมาณ 5,000 คน เดินทางออกนอกประเทศเพื่อเข้ารับการรักษาในประเทศต่าง ๆ ทั้งประเทศใกล้เคียงและประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก
 
ประธานาธิบดีมูฮัมมาดู บูฮารี (Muhammadu Buhari) ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ไนจีเรียต้องสูญเงินไปมากกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี จากการที่ชาวไนจีเรียต้องเดินทางไปรักษาตัวที่ต่างประเทศ แม้แต่ประธานาธิบดีเองก็ไปรับการรักษาที่สหราชอาณาจักรอยู่เป็นประจำ และแม้ว่าประธานาธิบดีจะมีนโยบายประกันสุขภาพถ้วนหน้า (Universal Health Coverage) เพื่อให้ประชาชนได้รับการรักษาพยาบาลอย่างทั่วถึง และมุ่งยกระดับมาตรฐานสาธารณสุขของประเทศให้ดียิ่งขึ้นแล้ว แต่การที่รัฐบาลไม่ได้สนับสนุนเครื่องมือทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลอย่างเพียงพอ บุคลากรในโรงพยาบาลยังได้รับค่าตอบแทนที่ต่ำ และสภาพแวดล้อมในสถานพยาบาลยังไม่เอื้ออำนวยให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในการเข้าไปรับการรักษา ส่งผลให้แพทย์ไนจีเรียกว่า 30,000 คน ออกไปหางานในต่างประเทศที่มีค่าจ้างและสภาพแวดล้อมที่ดีกว่า เช่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ จนทำให้ในปัจจุบัน ไนจีเรียมีอัตราแพทย์ต่อประชากรในประเทศต่ำ อยู่ที่ 1 คนต่อผู้ป่วย 4,000 คน
 
จากสถิติปี ๒๕๖๐ ชาวไนจีเรียเดินทางไปใช้บริการทางการแพทย์และสุขภาพที่อินเดียในลักษณะ Medical Tourism จำนวนกว่า 30,000 คน คิดเป็นมูลค่ามากกว่า 450 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ประเทศผู้นำด้านสาธารณสุขในเอเชียอย่างเกาหลีใต้ได้ส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอย่างจริงจัง เห็นได้จากภาคเอกชนเกาหลีใต้เข้าไปจัดตั้งสำนักงานตัวแทนติดต่อนำผู้ป่วยทั้งด้านการรักษาและศัลยกรรมความงาม เพื่อส่งออกไปรักษาโดยตรงที่เกาหลีใต้ โดยประชาสัมพันธ์ว่า เกาหลีใต้เป็นประเทศผู้นำด้านสาธารณสุขระดับโลก มีเครื่องมือทางการแพทย์ที่มีเทคโนโลยีสูง ค่ารักษาพยาบาลไม่แพง และเป็นโอกาสสำหรับผู้เดินทางมารักษาตัวให้สามารถท่องเที่ยวในเกาหลีใต้ได้อีกทางหนึ่ง จึงไม่น่าแปลกใจที่ตลาดไนจีเรียจะเริ่มมีการแข่งขันของผู้ประกอบการทางด้านอุตสาหกรรมสุขภาพหรือบุคลากรในโรงพยาบาลจากประเทศต่าง ๆ โดยเครือโรงพยาบาลของต่างประเทศเข้าไปตั้งสำนักงานตัวแทน เพื่อรับผู้ป่วยกลับไปรักษาที่ประเทศต้นสังกัดเป็นจำนวนมาก
 
ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในระดับสากล และได้รับการยอมรับในระดับโลก จากการจัดอันดับของ The International Healthcare Research Center (IHRC) พบว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยติดอันดับ 6 ของ “Medical Tourism Index” เนื่องจากมีค่ารักษาพยาบาลที่ถูกกว่าหลายประเทศ บุคลากรมีคุณภาพ เทคโนโลยีที่มีความทันสมัย และมีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากมาย  โดยข้อมูลจากหน่วยงานกลยุทธ์ของธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ Economic Intelligence Center (EIC) เปิดเผยว่า โรงพยาบาลภาคเอกชนของไทยมีรายได้จากการเข้ารับการรักษาจากชาวต่างชาติราวปีละ 7 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 0.01% ของ GDP และคาดการณ์ว่าธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทยจะสามารถทำให้ระบบเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวโตได้มากถึง 16% ต่อปี อย่างไรก็ดี แม้ผู้ประกอบการไทยจะเข้าเจาะตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพในภูมิภาคแอฟริกาและมีนักท่องเที่ยวจากแอฟริกาเข้ามารักษาตัวในไทยอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ชาวไนจีเรียยังมีสัดส่วนที่น้อย เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ เช่น เคนยา และเอธิโอเปีย ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะผู้ประกอบการไทยยังมิได้เข้าไปทำตลาดในไนจีเรียเท่าที่ควร
 
ดั้งนั้น จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการสถานพยาบาลไทยที่อาจพิจารณามาตั้งสำนักงานตัวแทนในไนจีเรีย หรือร่วมมือกับสำนักงานตัวแทนต่างประเทศที่ตั้งอยู่แล้วเพื่อส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของไทยให้ดียิ่งขึ้น และใช้ไนจีเรียซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของภูมิภาคแอฟริกาเป็นประตูสู่ทวีปแอฟริกาที่มีประชากรทั้งหมดเกือบ 1,300 ล้านคนได้ ทั้งนี้ สามารถติดต่อหรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้จากสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูจา
 
Source:
         
 
 
อ่านบทความ และรับข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่  : ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ www.globthailand.com