อาชีวศึกษาไทยสร้างชาติได้ ถ้ารัฐบาล ‘จริงใจ จริงจัง’

อัปเดตล่าสุด 24 ก.ย. 2562
  • Share :
  • 1,074 Reads   

ความดิ้นรนหนีกับดัก จากประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ค่อนข้างสูงไปสู่ประเทศพัฒนาแล้ว จะเป็นไปได้หากในปี 2578 ไทยมีรายได้ต่อหัวสูงได้ถึง USD 15,000 จากปัจจุบันมีรายได้ต่อหัวประมาณ USD 6,900 (ปี 2560) จะทำเช่นนั้นได้ ไทยต้องเพิ่มผลิตภาพ การผลิตของประเทศ โดยการใช้ทรัพยากรมนุษย์หรือแรงงานที่มีคุณภาพทักษะสูง เป็นหัวใจสำคัญลำดับต้นๆ ของเรื่องนี้

แต่จาก 10 ปีที่ผ่านมาไทยยังจ้างแรงงานทักษะต่ำถึงปานกลางเป็นแรงงานเข้มข้น ถึง 84% ใช้แรงงานระดับช่างเทคนิค และ แรงงานวิชาชีพ เพียง 16% ขณะที่ในเอเชีย ประเทศที่พัฒนาแล้วใช้แรงงานระดับสูง สูงถึง 60-70% ทำไมประเทศไทยยังติดอยู่กับการผลิต ที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ คำตอบคือ ความล้มเหลว ในการกระจายความเจริญไปยังชนบท ที่มีคนอยู่ในภาคเกษตรมากกว่า 14 ล้านคน ต้องเผชิญชะตากรรมราคาสินค้าเกษตรตกต่ำผันผวน ผลผลิตไม่แน่นอนขึ้นกับดินฟ้าอากาศ ผลิตภาพของแรงงานในสาขาเกษตรจึงต่ำสุดและเกือบไม่เปลี่ยนแปลงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

มีเพียงภาคอุตสาหกรรมซึ่งมีคนทำงานไม่เกิน 6 ล้านคน มีผลิตภาพแรงงานสูงสุด รองลงมาคือ ภาคบริการ มีคนทำงานอยู่มากกว่า 17 ล้านคน ดังนั้น ถ้าจะเร่งเพิ่มผลิตภาพแรงงานต้องเน้นไปที่ภาคอุตสาหกรรมเป็นลำดับแรก ซึ่งสามารถเพิ่มผลิตภาพได้มากกว่า 30% ในรอบ 10 ปี

เมื่อดูการใช้กำลังคนในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นเป้าหมายการพัฒนาดั้งเดิมของไทย ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน พบว่า มูลค่าเพิ่มของสาขาอุตสาหกรรมเพิ่มปีละ 4% จ้างแรงงานเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 87,000 คน หรือ 1.2% ต่อปี เพิ่มต่ำกว่ามูลค่าเพิ่ม จึงพอยืนยันได้ว่าผลิตภาพแรงงานสูงขึ้น แต่เมื่อดูคุณภาพของแรงงานกลับพบว่า ยังใช้แรงงานทักษะไม่เกินระดับกลางมากถึง 84.3% ในปี 2550 และ 85.4% ในปี 2560

อย่างไรก็ตามมีข้อที่น่าสังเกตคือ มีการใช้แรงงานระดับ ปวช. และ ปวส. เพิ่มขึ้นจากปี 2550 ถึง 2560 จาก 9.5% เป็น 11.9% ตามลำดับ แต่อุตสาหกรรมไทยก็ยังจ้างแรงงานสายอาชีพน้อยมาก

จากทิศทางการใช้กำลังคนในอดีตทำให้เห็นการเพิ่มสัดส่วนการใช้กำลังคน อาชีวศึกษาในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้น แต่ยังไม่เป็นไปตามกรอบความคาดหวังของรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมให้อาชีวะ สร้างชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวโน้มการส่งเสริมอุตสาหกรรม 4.0 ภายใต้การส่งเสริมตามกรอบ EEC  จำเป็นต้องใช้แรงงานอาชีวศึกษา ถึง 173,705 คน ซึ่งยังผลิตกำลังคนไม่เพียงพอ (Excess demand) อีกถึง 55,462 คน หรือ 32%

ทั้งนี้การศึกษา Vocational Education in Thailand: Its Evolution, Strengths Limitations, and Blueprint for future ของผู้เขียน และ ดร. วรรณวิศา สืบนุสรณ์ พบว่า คุณภาพของผู้กำลังเรียนเกือบ 1 ล้านคน ในวิทยาลัยของรัฐและเอกชน มีปัญหาเชิงคุณภาพ 4 ประการ คือ 1) คุณภาพของผู้สมัครเรียนคะแนนไม่สูงนัก 2) คุณภาพของผู้สอนยังไม่ดี ขาดประสบการณ์ 3) หลักสูตรการเรียนการสอนไม่ทันสมัย ส่วนใหญ่ไม่ใช่หลักสูตรฐานสมรรถนะ 4) อุปกรณ์ล้าสมัย ซึ่งเป็นปัญหาที่จะต้องได้รับการแก้ไขโดยด่วน

จากที่ผู้เขียนได้มีโอกาสดูงาน หลายวิทยาลัยโพลีเทคนิคในประเทศจีน คิดว่าอาจต้องปรับเปลี่ยนวิธีการโดยเน้นไปที่การรับเด็กเรียนดีที่ยากจนหรือไม่ก็ตาม ด้วยการให้ทุนทุกคนที่สนใจมาเรียนในสาขาที่ต้องการจนถึงระดับ ปวส. หรือ อาจรับผู้จบ ปวช. เข้ามาทำงานถ้าอายุครบ 18 ปี ให้ทำงานพร้อมเรียนไปด้วย โดยต้องเป็นความร่วมมือระหว่างสถานประกอบการ กับวิทยาลัยเทคนิคในเขตพื้นที่ ซึ่งอาจจำเป็นต้องอุดหนุนค่าเล่าเรียนและที่พัก พร้อมการันตีมีงานทำ ได้เงินเดือนสูง เทียบเท่าปริญญาตรีสายทั่วไป

สำหรับครูช่างที่กำลังทยอยเกษียณหลายพันคนในช่วง 5 ปีข้างหน้า ต้องรับครูใหม่มาแทน และยกระดับครูในช่วง 2 ปีนี้ ภายใต้ความช่วยเหลือจากวิทยาลัยโพลีเทคนิคของจีนหลายแห่งในโครงการ Belt and Roads initiatives ส่งครู ไปเรียนเพิ่มเติมในทุกสาขาที่นำมาสนับสนุน การพัฒนา EEC หรือการยกระดับเป็น อุตสาหกรรม 4.0

จุดเด่นของวิทยาลัยโพลีเทคนิคของจีน คือ มีอุปกรณ์ที่ทันสมัย เพียงพอต่อการ ฝึกฝน ขณะเดียวกันทางคณะกรรมการอาชีวศึกษาของไทยจะต้องเร่งสร้างห้องทดลองกลาง มี model ให้ฝึกทักษะ อย่างครบวงจร ถ้าไม่สร้างใหม่ก็เลือกบางวิทยาลัยเทคนิคเป็นเป้าหมายการปรับปรุงภาคละอย่างน้อย 1 แห่ง ถ้างบประมาณไม่มี ก็ควรพิจารณากู้เงินจากประเทศที่มาลงทุนในไทย เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี หรือจีน เพื่อยกระดับครูช่างให้เพิ่มสมรรถนะสูงเพียงพอต่อการสอนปีละอย่างน้อย 300 คน

ขณะเดียวกันการรับครูรุ่นใหม่เพิ่มเติม อาจเลือกจากผู้จบเทคโนโลยีบัณฑิตที่เก่ง จากสถาบันอาชีวศึกษาทั่วประเทศมาฝึกอบรม เพิ่มเติม ถ้าทำสำเร็จจะมีครูช่างมากเพียงพอ แทนครูช่างที่เกษียณ

สำหรับหลักสูตรอย่างน้อยต้องปรับให้เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะทุกระดับ การศึกษาโดยใช้สมรรถนะที่ออกไปแล้ว โดยสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพและ/หรือ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เอาไปปรับหลักสูตร โดยเฉพาะสาขาที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน หลักสูตรต้องเปลี่ยนได้รวดเร็ว ทันสมัย

ตัวอย่างที่ดีคือ การสร้างความร่วมมือ วิทยาลัยเทคนิคไทยกับวิทยาลัยโพลีเทคนิคจีน ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่โดยสภาสถาบันการอาชีวศึกษากรุงเทพมหานคร ผ่าน MOU  โดยเลือกปรับหลักสูตรร่วมกันให้นักเรียน  ปวส. ของไทยไปศึกษาและฝึกงานในวิทยาลัยของจีนเป็นเวลา 1 ปี (2 เทอม) เพื่อเรียนรู้ ฝึกใช้เครื่องมือที่ทันสมัย ในสาขาคอมพิวเตอร์ ICT แอนิเมชัน ภาพยนตร์ การซ่อมบำรุงรถไฟ และการขับรถไฟความเร็วสูง การซ่อมบำรุงอากาศยาน การสร้างและฝึกบังคับโดรน ซึ่งจีนมีห้องปฏิบัติการที่ทันสมัยทุกสาขาอาชีพที่เป็นที่ต้องการของประเทศ เป็นต้น

ทั้งนี้ใน 2 ปีนี้ จีนอาจยังสนับสนุนให้ผู้ที่ได้รับการอุดหนุนให้เรียนฟรีจะได้อยู่หอพักฟรี อาจจะต้องจ่ายค่าเดินทางเท่านั้น
สำหรับผู้จบการศึกษาจากโครงการไทย-จีน จะการันตีงานให้ทำ เงินเดือนสูงกว่าในไทย ได้ co-certificate ของไทยและจีน เพื่อทำงานบริษัทไทยหรือบริษัทจีนในไทยได้

ที่ผู้เขียนยกตัวอย่างความร่วมมือของไทยกับจีนเช่นนี้ ต้องการให้ผู้เกี่ยวข้องและกระทรวงศึกษาไทยได้ตระหนักว่า โลกให้ความสนใจกับผู้เรียนสายอาชีพอย่างจริงจังและจริงใจแค่ไหน เพราะเขาเชื่อว่าอาชีวศึกษาสร้างชาติได้จริง

สำหรับประเทศไทยการทุ่มเทงบประมาณเพื่อการศึกษาในสายอาชีพ ที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดใน EEC หรืออุตสาหกรรมไทยแลนด์ 4.0 ยังไม่เป็นจริง ถ้ารัฐบาลไม่สามารถจัดสรรงบประมาณในการสร้าง “คนอาชีวะ” ได้ ควรค้ำประกันเงินกู้จากรัฐบาลต่างประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ซึ่งให้เงินกู้ปรับปรุงอาชีวศึกษา ไทยมาหลายครั้งแล้ว หรืออย่างน้อยให้ความสนใจกับโครงการของจีนที่ให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่ากับประเทศในอาเซียน รวมทั้งไทยอย่างน้อยก็ 2 ปี ซึ่งก็ยังดีกว่า สอศ. ไม่ทำอะไรเสียเลย

อ่านบทความ และรับข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ : TDRI สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (ทีดีอาร์ไอ) www.tdri.or.th