รู้จักกับ ดร.ประพิณ อภินรเศรษฐ์ Thai Automation and Robotics Association (TARA)

อัปเดตล่าสุด 24 ก.ค. 2561
  • Share :
  • 3,267 Reads   

ดร.ประพิณ อภินรเศรษฐ์ กับบทบาท “นายกสมาคมคนแรก” ของ Thai Automation and Robotics Association (TARA) การรวมกลุ่มผู้ประกอบการที่มีความชำนาญด้านระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ หรือ System Integrator (SI) นั่นเอง 

การรวมกลุ่ม กับ ภาระกิจเข้มข้น

นโยบายภาครัฐที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติได้สร้างแรงกระเพื่อมต่อความต้องการอย่างมากมายในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นอุปสงค์จากตลาด บุคลากรและผู้เชี่ยวชาญ การต่อยอดองค์ความรู้ จึงเป็นแรงผลักดันให้เกิดการรวมกลุ่มผู้ประกอบการที่มีความชำนาญด้านระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ แม้ว่า TARA เองยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นสมาคมอย่างเป็นทางการ แต่ภาระกิจที่ได้รับมอบหมายมานั้นมีความเข้มข้นอย่างยิ่ง  ทำงานร่วมกับคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Center of Robotics Excellence: CoRE) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยที่สนใจลงทุนด้านระบบอัตโนมัติจัดหาและแนะนำรายชื่อ System Integrators (SI) ที่ผ่านการรับรองจัดการฝึกอบรมและให้ความรู้ด้านเทคนิคเกี่ยวกับระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ให้แก่ System Integrators (SI) สนับสนุนการออกและบูรณาการสำหรับโรงงานอัตโนมัติ ทั้งในแง่ของการสร้างต้นแบบและโครงการ OEM ขนาดใหญ่กับอุตสาหกรรมหนักในประเทศไทยร่วมมือกับภาครัฐ พัฒนาระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (New 10 S-curve) เพื่อมุ่งสู่ Thailand 4.0  

 

“โปร่งใส เปิดกว้าง” กุญแจสำคัญสู่เป้าหมาย

ดร.ประพิณ เผยวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อน TARA ว่า “โปร่งใส และ เปิดกว้าง จะทำให้ภาระกิจสำเร็จได้” เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ทั้งในส่วนของรายชื่อสมาชิก SI บน Official Website ของ TARA www.thaitara.org ที่ปัจจุบันมี SI ผ่านการรับรองแล้ว 80 กว่าราย และมี SI อีกจำนวนหนึ่งที่อยู่ในขั้นตอนการลงทะเบียนรับรอง นอกจากนี้ จะต้องโปร่งใสและเปิดกว้างให้ SI สามารถเข้าถึงข้อมูลและโอกาสต่าง ๆ อันจะทำให้ทุกคนร่วมมือกันในการทำภาระกิจต่อยอดความสำเร็จแบบองค์รวม โดยมีแนวทางดังนี้

  • ประชาสัมพันธ์แบบเปิดกว้างให้ผู้ประกอบการ SI ไทย เข้าร่วมเป็นสมาชิก TARA เพื่อให้เกิดการร่วมมือภายในสมาคม รองรับการเติบโตของธุรกิจด้านระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ที่เพิ่มขึ้น และจะทวีความต้องการสูงขึ้นในอนาคต
  • ประเมินความสามารถในแต่ละด้านของ SI ไทย เป็นฐานข้อมูลที่จะสนับสนุนการต่อยอดความรู้ความสามารถและยังเอื้อประโยชน์ในการเลือกใช้ SI ตามความเชี่ยวชาญอีกด้วย
  • เปิดเผยข้อมูล ข่าวสารที่เป็นประโยชน์ ทั้งในส่วนของผู้ที่จะเข้ามาใช้บริการ SI รวมถึงข้อมูลของ SI เอง
  • ผนึกกำลังร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของภาครัฐ สร้าง SI 200 ราย ภายในปีนี้ และ 1,400 รายภายในห้าปี 
  • พัฒนาระบบหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

 

ความสามารถทางเทคนิคของกลุ่ม TARA

TARA มีความสามารถในการออกแบบ พัฒนา บูรณาการและสร้างระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ในสาขาความเชี่ยวชาญ 6 ด้าน ดังนี้

  1. หุ่นยนต์ประเภทต่างๆ เช่น หุ่นยนต์แขนกลอุตสาหกรรม
  2. เครื่องจักร ชิ้นส่วนเครื่องจักร และเซ็นเซอร์ต่างๆ 
  3. บูรณาการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์
  4. ระบบซอฟแวร์ต่างๆ ระบบควบคุมและรวบรวมข้อมูลผลิต (SCADA) ระบบประมวลผลภาพ (Vision) 
  5. ระบบขนส่งไร้คนขับ Automated Guided Vehicle (AGV), Rail Guided Vehicle (RGV), Unmanned Vehicle (UV) และ Drone
  6. ระบบโลจิสติกส์อัตโนมัติซึ่งประกอบด้วย คลังสินค้า (Warehouse) และระบบจัดเก็บและเรียกคืนสินค้าอัตโนมัติ (Automated  Storage & Retrieval System: ASRS)

 

วางมาตรฐาน System Integrator - สร้าง Prototype center

จากนโยบายภาครัฐที่ผลักดันเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพ (National Quality Infrastructure: NQI) อันเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ โดย NQI ให้ความสำคัญ 4 ด้าน คือ 1. ด้านมาตรวิทยา (Metrology) 2. ด้านการจัดมาตรฐาน  (Standardization) 3. ด้านการทดสอบ (Testing )  และ 4. ด้านการบริหารคุณภาพ (Quality Management) ได้ส่งผ่านมายังอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติด้วย ซึ่งสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) ร่วมกับ สถาบันพัฒนาระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (TARII) กำลังดำเนินการวางมาตรฐาน System Integrator เพื่อรองรับการเติบโตของการลงทุนในระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมากในอนาคต นอกจากนี้ TARA ยังได้เสนอให้ภาครัฐสร้าง Prototype center สำหรับกำหนดมาตรฐานของหุ่นยนต์ รวมถึงวิธีวัดและทดสอบเพื่อควบคุมคุณภาพได้ 

เทรนด์หุ่นยนต์ในประเทศไทย  

Logistics และ Healthcare จะเป็นสองกลุ่มที่มีความน่าสนใจและมีความต้องการหุ่นยนต์เข้าไปใช้อย่างมาก ด้วยแรงผลักดันจากปัญหาการขาดแคลนแรงงานจะเป็นตัวขับเคลื่อนที่ดี และธุรกิจโลจิสติกส์ (Logistics) เองก็มีแรงส่งจากโครงการ EEC ในขณะที่ธุรกิจด้านดูแลสุขภาพ (Healthcare) นั้นก็ได้อานิสงส์จากยุคสมัยที่เข้าสู่สังคมสูงอายุ การนำหุ่นยนต์ไปช่วยในกิจกรรมทางสุขภาพต่าง ๆ จะมีมากขึ้นอย่างชัดเจน เช่น หุ่นยนต์ช่วยเดิน หรือ หุ่นยนต์กายภาพ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเกื้อหนุนจากการเติบโตด้วยตัวธุรกิจเองอีกด้วย

 

ดร.ประพิณ อภินรเศรษฐ์ คือใคร                                                       

ดร.ประพิณ อภินรเศรษฐ์ จบการศึกษาด้านวิศวกรรมควบคุมอุตสาหการ (Industrial Engineering and Operations Research: IEOR) ทางด้าน Modelling system and Mathematical programming จาก Northeastern University, Boston, Massachusetts, U.S.A.  มีความเชี่ยวชาญในด้านการประยุกต์ใช้งานวิศวกรกับการบริหารทรัพยากรต่าง ๆ ด้วยการวิเคราะห์และสังเคราะห์

ประวัติการทำงาน 

กรรมการบริหาร บริษัท เลิศวิลัย แอนด์ ซันส์ จำกัด

เลิศวิลัย แอนด์ ซันส์ เป็นผู้ผลิต นำเข้า ออกแบบและติดตั้งระบบหุ่นยนต์อุตสาหกรรม บริการฝึกอบรม และบริการหลังการขาย จำหน่ายสินค้าในธุรกิจเชื่อมโลหะและหุ่นยนต์อุตสาหกรรมรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของประเทศ 

กรรมการผู้จัดการ  บริษัท ยาวาต้า  (ประเทศไทย) จำกัด

ยาวาต้า  (ประเทศไทย) ผู้ผลิตลวดเชื่อมไฟฟ้า โดยร่วมทุนกับและได้รับเทคโนโลยีการผลิตจากบริษัท Nippon Steel & Sumikin Welding ประเทศญี่ปุ่น

กรรมการผู้จัดการ  บริษัท ไทรแค๊บ (ประเทศไทย) จำกัด

ไทรแค๊บ (ประเทศไทย) ผู้ผลิตสายไฟฟ้าและเคเบิลสำหรับงานอุตสาหกรรม เช่น LOW SMOKE ZERO HALOGEN CABLE และ FIRE RATED CABLES โดยเป็นบริษัทร่วมทุนไทย-ออสเตรเลีย 

กรรมการผู้จัดการ  บริษัท ควอดราเทคโนโลยี  จำกัด 

ควอดราเทคโนโลยี ผู้พัฒนาระบบ ERP โดยฝีมือคนไทยเพื่อตอบสนององค์กรธุรกิจขนาดเล็กไปจนถึงองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ให้มีความสอดคล้องและสามารถเปลี่ยนแปลงได้ไม่แพ้ระบบ ERP ของบริษัทต่างประเทศที่ต้องใช้ทุนสูงในการใช้งานและการบริหาร