ไทย-อียู FTA: ความหวังที่สดใสท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลก (ตอนที่ 1)

อัปเดตล่าสุด 18 ก.ย. 2562
  • Share :
  • 600 Reads   

ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกในช่วงปีที่ผ่านมา ทั้งประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานจีน และภาวะการเงินโลกที่ตึงตัวขึ้นดังที่เห็นได้จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่องเพื่อดึงดูดเม็ดเงินและการลงทุนกลับเข้าประเทศ ตลอดจนสถานการณ์ Brexit ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงและอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรและกลุ่มประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโร (Eurozone) รวมถึงปัจจัยภายในของไทยเองที่ภาคธุรกิจชะลอการลงทุนเพื่อรอความชัดเจนและนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้ง ทำให้หลายหน่วยงานจากทั้งภาครัฐและเอกชนปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวของจีดีพีของไทยลงมาอยู่ที่ไม่ถึง 4%

อย่างไรก็ดี ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์เศรษฐกิจโลกดังกล่าว การรื้อฟื้นการเจรจาความตกลงเปิดเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ที่หยุดชะงักไปกว่า 6 ปี ดูจะมีความหวังมากขึ้นเมื่ออียูได้ส่งสัญญาณขานรับการจัดตั้งรัฐบาลของไทย  เมื่อวันที่ 19 กรกฏาคม ที่ผ่านมา จากข้อมติคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปเมื่อปี 2557 ที่ระบุไว้ว่า อียูจะเริ่มเจรจาความตกลง FTA กับไทยอีกครั้งเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว ซึ่งต่อมาเมื่อปลายปี 2560 คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปได้ปรับข้อมติให้เริ่มสำรวจความเป็นไปได้ของการรื้อฟื้นการเจรจาความตกลง FTA กับไทยภายหลังความคืบหน้าการเตรียมการเลือกตั้ง โดยเฉพาะการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 ดังนั้น ปัจจุบันจึงถือได้ว่าเงื่อนไขต่าง ๆ เอื้อต่อการรื้อฟื้นการเจรจาอย่างเป็นทางการ อีกทั้งในฝั่งของอียูเองก็เพิ่งได้คณะผู้บริหารชุดใหม่จากเลือกตั้งสภายุโรปเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม โดยนโยบายของคณะผู้บริหารชุดใหม่ซึ่งจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน ปีนี้ จะมีความหมายต่ออนาคตของอียูและทิศทางการค้าระหว่างอียูกับไทยในช่วง 5 ปีข้างหน้าอย่างมีนัยสำคัญ

โอกาสของไทยจากความตกลงไทย-อียู FTA

การเจรจาความตกลง FTA ฉบับนี้จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าไทยในตลาดอียูที่มีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและมีกำลังซื้อสูงสุดแห่งหนึ่งของโลก โดยเฉพาะในปัจจุบันที่อียูมีการจัดทำความตกลงการค้าเสรีครอบคลุมประเทศต่าง ๆ ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับไทย อาทิ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเวียดนาม ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของพลวัตทางการค้าระหว่างประเทศในอนาคต

ประโยชน์อันดับแรกของความตกลง FTA ฉบับนี้คือการลดภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมของไทย ที่ปัจจุบันไม่มีแต้มต่อทางการค้าเมื่อเทียบกับคู่แข่งบางประเทศ เช่น เวียดนาม หลังไทยถูกตัดสิทธิ GSP ไปเมื่อปี 2558 นอกจากนี้ ความตกลง FTA จะช่วยลดมาตรการที่เป็นอุปสรรคทางการค้าอื่น ๆ ทั้งในกลุ่มอาหารแปรรูป ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ โดยหากการเจรจาสำเร็จจะช่วยให้ไทยสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดในอียู โดยเฉพาะจากประเทศที่มีโครงสร้างสินค้าคล้ายคลึงกับไทยและมี FTA กับอียู เช่น เวียดนาม

นอกจากนี้ ความตกลง FTA ฉบับนี้ ยังมีประโยชน์ในแง่การส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีและ know-how ต่าง ๆ จากการเข้ามาลงทุนของบริษัทอียูในไทย ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้ประกอบการภายในประเทศในสาขาที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและอียูมีความเชี่ยวชาญ อาทิ ยานยนต์สมัยใหม่ การบินและโลจิสติกส์ นวัตกรรมด้านเกษตรและอาหาร ดิจิทัล อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ และหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม เป็นต้น โดยเฉพาะในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) รวมทั้งจะเป็นแม่เหล็กที่ช่วยเหนี่ยวรั้งนักลงทุนรายเดิมที่มีความเสี่ยงจะย้ายการลงทุนไปที่อื่น และดึงดูดเม็ดเงินจากนักลงทุนรายใหม่ให้ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตและส่งออก เพื่อจับตลาดที่มีกำลังซื้อสูงอย่างอียูได้อีกด้วย

อย่างไรก็ดี การเจรจาความตกลง FTA ไทย-อียูอาจไม่ใช่เรื่องง่ายและอาจต้องใช้เวลา และประเด็นที่จะต้องพิจารณาเกี่ยวกับการเจรจาความตกลงไทย-อียู FTA ยังมีอยู่อีกมาก ซึ่งทางศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์จะนำเสนอต่อในบทความครั้งต่อไป


อ่านบทความ และรับข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่  : ศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ www.globthailand.com