รวมหลักเกณฑ์ เงื่อนไข สิทธิประโยชน์ จากมาตรการส่งเสริมการลงทุนประหยัดพลังงาน ในงานเสวนา “ติดตั้งโซลาร์เซลล์ ประหยัดไฟฟ้าในโรงงาน ดี 2 ต่อ”

อัปเดตล่าสุด 26 มิ.ย. 2562
  • Share :
  • 5,780 Reads   

ประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างมากในงานเสวนา “ติดตั้งโซลาร์เซลล์ ประหยัดไฟฟ้าในโรงงาน ดี 2 ต่อ” จัดโดย สำนักข่าวอุตสาหกรรม M Report เมื่อวันพุธที่ 29 พฤษภาคม 2562 ณ บริษัท ไทยสเตนเลสสตีล จำกัด อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี นั้นคือ การขอรับการส่งเสริมการลงทุนตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนฉบับที่ 9/2560 เพื่อส่งเสริมให้เกิดการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อการประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานทดแทน (Alternative Energy) การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การสนับสนุนการวิจัยพัฒนา และการออกแบบทางวิศวกรรมเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต โดย คุณภาคภูมิ บูรณบุณย์ นักวิชาการส่งเสริมการลงทุนชำนาญการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ (BOI) ได้มาให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการในหลากหลายประเด็น

ในบทความนี้ M Report ได้รวบรวมเนื้อหาข้อมูลสำคัญทั้งในเรื่องของหลักเกณฑ์ในการอนุมัติโครงการ เงื่อนไขและรายละเอียดต่าง ๆ ของมาตรการ รวมถึงสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกอบการจะได้รับ ตลอดจนการเตรียมข้อมูลและเอกสารประกอบการพิจารณาอย่างถูกต้อง เพื่อให้สามารถดำเนินการยื่นขอรับสิทธิและประโยชน์ในการส่งเสริมจากทางภาครัฐได้อย่างถูกต้อง ดังนี้

เงื่อนไขในการได้รับการส่งเสริมการลงทุน 

1. เงินลงทุนไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท หากเป็น SMEs ต้องมีเงินลงทุนไม่น้อยกว่า 5 แสนบาท และมีคุณสมบัติตามประกาศ SMEs

2. จะต้องยื่นคำขอภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2563 และจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 3 ปี นับจากวันที่ออกบัตรส่งเสริม 

หลักเกณฑ์ในการอนุมัติโครงการ มีดังต่อไปนี้

1. พัฒนาความสามารถในการแข่งขัน 

  • ต้องมีมูลค่าเพิ่มไม่น้อยกว่า 20% ของรายได้
  • ใช้กรรมวิธีการผลิตที่ทันสมัย
  • กำหนดเงื่อนไข ISO

2.การป้องกันผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม

  • ต้องมีแนวทางและมาตรการป้องกัน/ลดผลกระทบ
  • EIA

3.เงินลงทุนขั้นต่ำและความเป็นไปได้ของโครงการ

  • ต้องมีเงินลงทุนขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท
  • อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนจดทะเบียน ไม่เกิน 3 ต่อ 1
  • เงินลงทุน 750 ล้านบาท ขึ้นไปต้อง FES / เงินลงทุน 200 ล้านบาทขึ้นไปจะต้องแนบ IRR เปรียบเทียบ BOI vs. NON BOI

สิทธิประโยชน์จากมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อการประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานทดแทน หรือการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 

  • ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร 
  • ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 3 ปี เป็นสัดส่วนร้อยละ 50 ของเงินลงทุนโดยไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนในการปรับปรุง ทั้งนี้ ให้ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากรายได้ของกิจการที่ดำเนินการอยู่เดิม
  • ระยะเวลายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้นับจากวันที่มีรายได้ภายหลังได้รับบัตรส่งเสริม

 

สิทธิประโยชน์ของกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (กรณีจำหน่ายให้การไฟฟ้าหรือจำหน่ายให้ลูกค้าเอกชน)

สิทธิประโยชน์ที่ได้รับส่งเสริม (ตามเกณฑ์ปกติ)

  • ยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักร
  • ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 8 ปี หากมีรายได้จากการประกอบกิจการ ภายใต้
  • เงื่อนไข Cap วงเงิน 

รายละเอียดมาตรการประหยัดพลังงาน  การใช้พลังงานทดแทน และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีหลักเกณฑ์ดังนี้


หลักเกณฑ์ด้านการประหยัดพลังงาน : ตัวชี้วัด

  • การใช้พลังงานต้องลดลงตามที่กำหนด
  • มูลค่าของพลังงานที่ประหยัดได้ต้องไม่น้อยกว่ามูลค่าภาษีที่ได้รับการยกเว้น


หลักเกณฑ์ด้านการนำพลังงานทดแทนมาใช้ในกิจการ : ตัวชี้วัด

  • มีการเปลี่ยนมาใช้พลังงานทดแทนตามชนิดที่กำหนด เพื่อทดแทนการใช้พลังงานฟอสซิลหรือพลังงานที่มาจากการใช้ไฟฟ้า เช่น การเปลี่ยนมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์ หรือ โซลาร์เซลล์ 

 

หลักเกณฑ์ด้านการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม : ตัวชี้วัด  

  • ปริมาณการระบายสารมลพิษ หรือ ปริมาณการระบายน้ำทิ้ง หรือปริมาณสารมลพิษ ต้องลดลงตามความเหมาะสม

การเตรียมข้อมูลในการยื่นแบบขอรับการส่งเสริม

  • รายการเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในโครงการ โดยระบุปริมาณการใช้และมูลค่าเครื่องจักร รวมถึงค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง 
  • เปรียบเทียบปริมาณไฟฟ้าก่อนและหลังติดตั้งตามโครงการ 

เอกสารขอรับการส่งเสริมตามมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ตามแผนการใช้พลังงานทดแทน มีดังนี้

  1. แบบคำขอรับการส่งเสริมการลงทุน ทั่วไป (F PA PP 01-06)
  2. แบบคำขอรับการส่งเสริมตามหลักเกณฑ์การใช้สิทธิและประโยชน์ตามมาตรการการลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต ตามประกาศ  กกท.ที่ ป.9/2560 (F PA PP 28-03)
  3. รายละเอียดการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดการของเสียจากการผลิต

 

เอกสารประกอบการพิจารณาขอรับการส่งเสริมในกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (กรณีจำหน่ายให้การไฟฟ้าหรือจำหน่ายให้ลูกค้าเอกชน) มีดังนี้

  1. แบบคำขอรับการส่งเสริมการลงทุน ทั่วไป (F PA PP 01-06)
  2. หนังสือตอบรับซื้อไฟฟ้า หรือ สัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) 
  3. รายละเอียดการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดการของเสียจากการผลิต

 

ตัวอย่างการเปรียบเทียบข้อมูลปริมาณการใช้ไฟฟ้า

  1. ปี พ.ศ. 2561 บริษัทฯ ปริมาณไฟฟ้าที่ใช้ทั้งหมด 30,000,000 kW/ปี 
  2. ภายหลังติดตั้งเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 330 W/ชั่วโมง จำนวน 5,000 แผ่น สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 1650 kW/ชั่วโมงหรือ 2,409,000 kW/ปี

หมายเหตุ : คำนวณที่เวลาทำงานของเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ 4 ชั่วโมง/วัน 365 วัน/ปี

รูปแบบของการได้รับสิทธิประโยชน์จากมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อการประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานทดแทน หรือการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

Case 1 : ผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่าย 
 

1.1 จำหน่ายให้การไฟฟ้าฯ
หากเป็นโครงการใหม่ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี  วงเงิน  100% ของเงินลงทุน และยกเว้นภาษีอากรเครื่องจักร

1.2 จำหน่ายให้ลูกค้าเอกชน 
หากเป็นโครงการใหม่ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี  วงเงิน   100% ของเงินลงทุน และยกเว้น ภาษีอากรเครื่องจักร

Case 2 : ผลิตไฟฟ้าไว้ใช้เอง*
 

2.1   กิจการเดิมได้ BOI และสิทธิภาษีเงินได้ยังไม่หมด จะนำเงินลงทุนใหม่มาคิดรวมเพื่อขยายวงเงินบัตรเดิม และยกเว้นภาษีอากรเครื่องจักร
2.2   กิจการเดิมได้ BOI  และสิทธิภาษีเงินได้หมดไปแล้ว จะต้องเข้าข่ายมาตรการส่งเสริมพลังงานทดแทน  ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี วงเงิน 50% ของเงินลงทุน และยกเว้นภาษีอากรเครื่องจักร 
2.3   กิจการเดิมไม่ได้ BOI  และอยู่ในบัญชีให้การส่งเสริมได้ จะต้องเข้าข่ายมาตรการส่งเสริมพลังงานทดแทน ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี วงเงิน 50% ของเงินลงทุน และยกเว้นภาษีอากรเครื่องจักร
2.4   กิจการเดิมไม่ได้ BOI และไม่อยู่ในบัญชีให้การส่งเสริม หากเป็นโครงการใหม่ จะได้รับการยกเว้นภาษีอากรเครื่องจักร แต่จะไม่ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล

Case 3 : Engineering Procurement and Construction (EPC) บริการรับเหมาออกแบบ ติดตั้งระบบ จะไม่อยู่ในข่ายที่ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอ 

 

สนใจติดต่อ : บีโอไอ (สำนักงานใหญ่)  555 วิภาวดี-รังสิต จตุจักร กรุงเทพฯ 10900

โทร. 0 2553 8111 E-mail: [email protected]  www.boi.go.th