มีเงินเท่าไหร่ จึงจะพอใช้ เมื่อเกษียณอายุ

อัปเดตล่าสุด 4 ส.ค. 2562
  • Share :
  • 637 Reads   

เป็นคำถามที่ผู้สูงวัยแทบจะทุกท่านเป็นกังวลและต้องการคำตอบ แต่ก็คงไม่มีใครให้คำตอบแบบฟันธงลงไปได้เลยว่าสำหรับคนทำงานกินเงินเดือน เมื่อเกษียณอายุแล้วควรมีเงินไว้ใช้จ่ายจำนวนเท่าไหร่…

องค์การสหประชาชาติ คาดการณ์ว่า ในช่วงปี 2001-2100 โลกก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เป็นศตวรรษแห่งผู้สูงอายุ โดยได้ให้นิยาม ผู้สูงอายุ (Older Person) ว่า หมายถึงประชากรทั้งเพศชายและหญิงที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ขึ้นไป 

3 ระดับในการเข้าสังคมผู้สูงอายุ

1. Aging Society (ระดับการก้าว เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ)
สังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปี ขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้ง ประเทศหรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปี มากกว่าร้อยละ 7 ของประชากรทั้งประเทศ แสดงว่าประเทศนั้นกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

2. Aged Society (ระดับสังคมผู้สูงอายุ โดยสมบูรณ์) 
สังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 60 ปี ขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้ง ประเทศ หรือมีประชากรอายุตั้งแต่ 65 ปี มากกว่าร้อยละ 14 ของประชากรทั้งประเทศ แสดงว่าประเทศนั้นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์

3. Super aged Society (ระดับสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่) 
สังคมหรือประเทศที่มีประชากรอายุ 65 ปี ขึ้นไปมากกว่า ร้อยละ 20 ของประชากร ทั้งประเทศ แสดงว่าประเทศนั้นเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มที่

สำหรับประเทศไทย สำนักงานสถิติแห่งชาติ สรุปว่า ไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2005 โดยปี พ.ศ. 2561 มีประชากรผู้สูงอายุ ประมาณ 10.6 ล้านคน ของประชากรทั้งประเทศ และคาดว่าจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ในช่วงปี 2024-2025

สังคมผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ

องค์การสหประชาชาติประเมินว่าส่วนใหญ่ประชากรผู้สูงอายุทั้งโลกจะมีฐานะยากจน “แก่ก่อนรวย” จึงเป็นประเด็นปัญหาร่วมของสังคมโลกว่า ประเทศต่าง ๆ จะช่วยกันสร้างสังคมผู้สูงอายุที่มีคุณภาพได้อย่างไร สังคมผู้สูงอายุที่มีคุณภาพตามแนวคิดของรัฐสวัสดิการ หมายความถึง เป็นสังคมผู้สูงอายุที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี บนพื้นฐานของการมีสุขภาพกาย ใจ และ สังคมที่ดี มีสุขภาพทางการเงินส่วนบุคคล (Personal Finance) ที่สามารถจัดการ หรือ การบริหาร การเงินของบุคคลอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการรู้จักจัดหาเงินเข้ามา รู้จักออม และรู้จัก การใช้จ่ายออกไปอย่างเหมาะสม ในบทความนี้ผู้เขียนจะขอเน้นขยายความไปที่สุขภาพทางการเงินส่วนบุคคลก่อน เพราะสุขภาพทางการเงินส่วนบุคคลจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการส่งเสริมพัฒนา สุขภาพด้านอื่น ๆ ให้มีพัฒนาการไปในทางที่ดีตามไปด้วย 

“มีเงินเท่าไหร่... จึงจะพอ เมื่อเกษียณอายุ”

เป็นคำถามที่ผู้สูงวัยแทบจะทุกท่านเป็นกังวลและต้องการคำตอบ แต่ก็คงไม่มีใครให้ คำตอบแบบฟันธงลงไปได้เลยว่าสำหรับคนทำงานกินเงินเดือน เมื่อเกษียณอายุแล้วควรมีเงิน ไว้ใช้จ่ายจำนวนเท่าไหร่ เพราะการใช้จ่ายเงินเป็นไลฟ์สไตล์ของแต่ละบุคคล บางคนที่สมถะอาจใช้เงินเพียงเดือนละหมื่นบาท แต่บางคนอาจจะใช้เงินเดือนละเป็นแสนบาท ไม่ว่าท่านต้องการจะมีเงินไว้ใช้จ่ายเท่าไหร่เมื่อเกษียณอายุ แหล่งที่มาของเงินจะเกิดจากการเก็บออมและการลงทุน ตั้งแต่ท่านอยู่ในวัยทำงาน เช่น ถ้าท่านต้องการมีเงินไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณอายุ เดือนละ 10,000 บาท ไปอีก 20 - 25 ปี ท่านจะต้องมีเงินก้อนประมาณ 3 ล้านบาท (ยังไม่คิดถึงเรื่องอัตราเงินเฟ้อ) ประเด็นปัญหาก็คือ ท่านจะบริหารการเงินอย่างไรเมื่อยังอยู่ในวัยทำงาน ที่เมื่อเกษียณอายุแล้วจะได้มีเงินก้อน 3 ล้านบาท

ปัญหาการบริหารการเงินส่วนบุคคลของผู้สูงอายุไทย

สำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจพบว่ารายได้ของผู้สูงอายุไทยน่าเป็นห่วง โดยผู้สูงอายุของไทยที่ไม่มีรายได้ถึงร้อยละ 21.1 และมีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาทต่อปี ร้อยละ 84.2 ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ที่กำกับดูแลการบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของภาคเอกชน พบว่าหากต้องการใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างพอเพียงจะต้องมีเงินประมาณ 4 ล้านบาท (เฉลี่ยใช้เงินเดือนละ 15,000 บาท) แต่ร้อยละ 70 ของสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีเงินตอนเกษียณอายุไม่ถึง 1 ล้านบาท ซึ่งไม่พอใช้อย่างแน่นอน เพราะถ้าเอาเงิน 1 ล้านบาทไปลงทุนได้ผลตอบแทน ร้อยละ 3 ต่อปี เงิน 1 ล้านบาท จะสามารถใช้เงินต้นและดอกเบี้ยได้เพียง 4,742 บาทต่อเดือนเท่านั้น เป็นเวลา 25 ปี 

ปัญหาการบริหารการเงินส่วนบุคคลของผู้สูงอายุไทย

1. ออมน้อย 

สาเหตุมาจากคนส่วนใหญ่ยังมีรายได้น้อยเมื่อเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่าย แต่ในจำนวนรายได้ที่น้อยนั้น จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี พ.ศ. 2560 พบว่าครัวเรือนไทยมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 26,946 บาท มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละ 21,437 บาท แสดงว่าครัวเรือนไทยก็ยังมีรายได้สูงกว่าค่าใช้จ่าย ส่วนที่เหลือก็ควรจะนำไปออมได้ แต่จากข้อมูลหนี้ครัวเรือนของคนไทยในปี พ.ศ. 2561 ร้อยละ 87.4 ต่อจีดีพี ค่อนข้างสูง (การก่อหนี้ของคนไทย ธนาคารแห่งประเทศไทยสรุปว่าเป็นไปในลักษณะเป็นหนี้เร็ว เป็นหนี้นาน และเป็นหนี้มาก) ซึ่งน่าจะมาจากแนวคิดที่ยังไม่ตระหนักถึงการออมเงินไว้ใช้ในอนาคต คิดแค่ใช้จ่ายเงินที่หาได้มาตอบสนองความต้องการในปัจจุบัน ซึ่งเน้นการบริโภคที่มากเกินกว่าฐานะทางด้านรายได้ของแต่ละบุคคล เป็นสังคมแห่งการบริโภค ผลที่ตามมาจึงเกิดการก่อหนี้ เช่น คนมีรายได้น้อย แต่ก็ยังสูบบุหรี่ ดื่มสุรา หรือใช้ของฟุ่มเฟือยตามคนอื่น ๆ โดยไม่ดูฐานะทางด้านรายได้ของตน เป็นต้น

2. ออมไม่เป็น 

สำหรับผู้สูงอายุที่เมื่อตอนอยู่ในวัยทำงานพอจะมีเงินเหลือเก็บออมได้บ้าง แต่ส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ในเรื่องการวางแผนการเงิน การลงทุนที่ดี และหลากหลายพอ เลยมีแนวคิดว่าการออมรูปแบบอื่น ๆ ที่ไม่ใช่การฝากเงินไว้กับธนาคาร เช่น การลงทุนในหุ้น การซื้อหน่วยลงทุน ตราสารหนี้ พันธบัตรรัฐบาล เป็นต้น เป็นความเสี่ยง ประกอบกับปัจจุบันการฝากเงินไว้ กับธนาคารได้ผลตอบแทนที่ต่ำมาก ๆ เลยทำให้ขาดแรงจูงใจในการออม กรณีคนที่ทำงานในสถานที่ทำงานมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (ประมาณ 3 ล้านคน แต่แรงงานอีกราว 11 ล้านคน อยู่ในองค์กรที่ไม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ) ก็จะเลือกลงทุนในรูปแบบที่มีความเสี่ยงต่ำมาก ๆ ซึ่งจะส่งให้ผลตอบแทนที่ได้รับก็จะต่ำตามไปด้วย สถานการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ ส่งผลให้คนในวัยทำงานส่วนใหญ่ขาดแรงจูงใจที่จะออมเงิน เก็บไว้ใช้จ่ายเมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ

3. ขาดวินัยในการออม 

จากการวิจัยของธนาคารทหารไทย ( TMB Analytics) ถึงพฤติกรรมการออมเงินของคนไทยในวัยทำงาน พบว่าขาดวินัยในการออม และมีแนวคิดว่าการวางแผนการเงินที่จะเก็บไว้ใช้จ่ายเมื่อเกษียณอายุเป็นเรื่องไกลตัว และเนื่องจากไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปเป็นลักษณะบริโภคนิยมมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น (สุรา บุหรี่) ในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง ทำให้มีคนไทยเพียงร้อยละ 38 ที่มีการออมก่อนใช้และแยกบัญชีชัดเจน ขณะที่ร้อยละ 49 มีพฤติกรรมใช้ก่อนออมทีหลัง และอีกร้อยละ 13 ไม่คิดที่จะออม และในกลุ่มคนที่คิดจะออมเงินก็มีแค่ร้อยละ 35 เท่านั้นที่มีวินัยการออมสม่ำเสมอเท่ากันทุกเดือน

ความท้าทายของการบริหารการเงินในสังคมผู้สูงอายุ

สังคมผู้สูงอายุ ลักษณะแก่ก่อนรวยจะเป็นปัญหาสังคม ที่รัฐจะต้องจัดสรรงบประมาณของประเทศมาดูแลผู้สูงอายุ ในสวัสดิการสังคมรูปแบบต่าง ๆ เช่น การรักษาพยาบาล เบี้ยยังชีพ ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า สถานสงเคราะห์ผู้สูงอายุ ค่าพาหนะ เดินทาง ฯลฯ ซึ่งจะมีผลกระทบไปถึงความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศตามไปด้วย ทางออกของปัญหาทางหนึ่ง รัฐควรจะต้องเข้ามาเป็นแกนในการขับเคลื่อนเปลี่ยน แนวคิดของประชาชนให้ใส่ใจในเรื่องของการออมเงินให้มากขึ้น โดยมีมาตรการทั้งทางบวกและลบ เพื่อกระตุ้น ส่งเสริม จูงใจ และรณรงค์ให้ประชาชนเมื่ออยู่ในวัยทำงานและรัฐร่วมมือกัน ในการพัฒนาพฤติกรรมของประชาชนให้มีวินัย ตระหนักถึงเรื่องการออมทรัพย์เก็บเงินไว้ใช้จ่ายในอนาคตให้มากขึ้น ซึ่งควรจะเป็นการเปลี่ยนแปลงแนวคิดของประชาชนขนาดใหญ่ (Big Change) ในลักษณะของการเป็นวาระการออมแห่งชาติขึ้น 

มาตรการของรัฐให้ตระหนักถึงเรื่องการออมทรัพย์ 

ในทางบวก (เป็นมาตรการรณรงค์) จะต้องสร้างความสัมพันธ์ 3 ส่วน คือ 

1. รัฐควรจะต้องมีนโยบายในการพัฒนาแนวคิดของประชาชน ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการออมทรัพย์ภาคประชาชน โดยเริ่มตั้งแต่การออกแบบหลักสูตรการบริหารการเงินส่วนบุคคล สอนให้กับประชาชนตั้งแต่อยู่ในวัยเรียน ให้ตระหนักถึงเรื่องการใช้จ่ายเงินอย่างรู้คุณค่าและอย่างพอเพียง รู้จักการประหยัดและรู้จักการออม การลงทุนในรูปแบบต่าง ๆ และรู้ถึงคุณและโทษของการก่อหนี้ ฯลฯ  
2. เมื่อเข้ามาสู่การทำงาน รัฐจะต้องเข้ามาสร้างหลักประกันรายได้ขั้นตำให้กับผู้เข้ามาทำงาน ที่เหมาะสมกับค่าครองชีพ (ปัจจุบันเรามีกฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำบังคับเฉพาะภาคเอกชน) และมีเงินเหลือเก็บไว้ออมด้วย  
3. สุดท้ายองค์กรต่าง ๆ จะต้องเข้ามาต่อยอดความรู้ในเรื่องการเงินส่วนบุคคล พัฒนาให้พนักงานของตนใส่ใจในการวางแผนการใช้จ่าย การเก็บออม รวมถึงการนำไปลงทุนที่เหมาะสม

ในทางลบ (เป็นมาตรการการบังคับ)

รัฐจะต้องเข้ามามีส่วนในการกำหนดนโยบายการบริหารการเงินส่วนบุคคล ด้วยการออกกฎหมายให้มีการออมภาคบังคับในสองมิติ เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ ที่ทุกองค์กรเอกชนจะต้องจัดตั้งกองทุนฯ นี้ในสถานประกอบการ (ปัจจุบันยังเป็นแบบสมัครใจ) กองทุนการออมแห่งชาติภาคบังคับสำหรับประชาชนที่ทำงานอิสระ (ทุกรูปแบบ) เพื่อสร้างวินัยในการบริหารเงินให้กับประชาชนในวัยทำงาน ให้ต้องออมเงินตั้งแต่อายุน้อย ๆ และเป็นการออมที่มีวินัยสม่ำเสมอ นอกจากนี้อาจจะต้องพิจารณาถึงการกำหนดอัตราการสมทบขั้นตำของทั้งสมาชิกกองทุนต่าง ๆ และองค์กร ให้มีความสอดคล้องกับสภาวะการออมที่จะต้องมีเงินพอใช้ในระยะยาว (เมื่อชราภาพ) เป็นต้น

ในมุมมองของผู้เขียน การบริหารการเงินส่วนบุคคลเป็นเรื่องของเจ้าตัวแต่ละบุคคล ที่จะต้องเริ่มจากการมีแนวคิด (Mindset) ในการที่จะต้องช่วยเหลือตัวเองทางการเงินก่อน ไม่ใช่การรอรับความช่วยเหลือหรือการสงเคราะห์จากรัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่แนวคิดนี้จะเกิดขึ้นได้ รัฐจะต้องเข้ามาปลูกฝังความคิดพื้นฐานให้ประชาชน ที่จะต้องมีความรู้ในเรื่องของการบริหารการเงินส่วนบุคคลที่ดีพอ ตั้งแต่รู้จักหา รู้จักใช้ และสุดท้ายรู้จักการออม ตั้งแต่ก่อนเข้าสู่วัยทำงาน และเมื่อเข้าสู่วัยทำงานก็ต้องมีระบบที่รัฐออกแบบไว้เพื่อส่งเสริมการออมภาคประชาชน เช่น กองทุนการออมแห่งชาติ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (เอกชน) กองทุนบำเหน็จบำนาญ (ราชการ) กองทุนประกันสังคน  เป็นต้น และถึงแม้ว่ารัฐจะออกแบบโครงสร้างทางด้านสวัสดิการสังคม ในด้านการออมไว้ให้กับประชาชนแล้ว ที่สำคัญถ้าประชาชนแต่ละบุคคลไม่มีแนวคิดในการออมส่วนบุคคลเพิ่มเติมอีก หวังจะนำเงินจากกองทุนต่าง ๆ เหล่านี้มาใช้จ่ายเมื่อยามเกษียณอายุแต่เพียงด้านเดียว ข้อเท็จจริงในปัจจุบันพบว่าเงินจากกองทุนต่าง ๆ เหล่านี้จะไม่พอใช้ในระยะยาว 

เพราะฉะนั้นถ้าท่านต้องการเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพทางการเงินที่แข็งแรง “รวยก่อนแก่ ไม่ใช่แก่ก่อนรวย” สิ่งแรกที่ควรทำเลย ณ วันนี้ ก็คือต้องเริ่มด้วยการมีวินัยในการออมให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ มีเงินเหลือใช้เมื่อแก่เฒ่าดีกว่า ... 

“มีไม่พอใช้หรือต้องขอเขาใช้ เป็นภาระของลูก ๆ หลาน ๆ ลองพิจารณาดูนะครับ” 

สนับสนุนบทความโดย: สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ www.ftpi.or.th