4 ตัวอย่างทำน้อยได้มาก ประหยัดพลังงาน ปรับปรุงสภาพแวดล้อมในโรงงาน

อัปเดตล่าสุด 26 ก.ค. 2562
  • Share :
  • 2,270 Reads   

ประเด็นที่น่าสนใจในงานเสวนา “ติดตั้งโซลาร์เซลล์ ประหยัดไฟฟ้าในโรงงาน ดี 2 ต่อ” เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2562 โดยสำนักข่าวอุตสาหกรรม M Report นั้นพบว่า การติดตั้งโซลาร์เซลล์ หรือ การใช้พลังงานทดแทนอื่น ๆ รวมถึงการเปลี่ยนเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อลดการใช้พลังงาน และขอรับการสนับสนุนส่งเสริมการลงทุนจากภาครัฐนั้น ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่ว่าผู้ประกอบการทุกรายจะมีความพร้อม ความเหมาะสม ความจำเป็น และความคุ้มค่าต่อการลงทุน ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิดแปลกแต่อย่างใด ดังนั้น จึงมีทางเลือกอื่นที่จะพิจารณาเพื่อประหยัดพลังงานได้เช่นกัน โดยหนึ่งในผู้ร่วมเสวนา คุณอาชว์ ริยะจันทร์ Assistant Manager, Sales Engineering Section, Panasonic Life Solutions Sales (Thailand) Co., Ltd. ได้มาเผยตัวอย่างโซลูชันประหยัดพลังงานแบบทำน้อย แต่ได้มาก ช่วยให้คนทำงานมีความสุขเพิ่มขึ้นได้จากสภาพแวดล้อมภายในโรงงานที่ดีขึ้น และผู้ประกอบการเองก็ไม่ต้องมีแรงกดดันต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ รวมถึงเงินลงทุนจำนวนมาก จึงช่วยผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมสามารถลดต้นทุนการผลิตโดยรวมได้ 

ขั้นตอนเบื้องต้นนั้น จะต้องทำการสำรวจโรงงาน ตรวจสอบสถานที่ให้ดีเสียก่อน แล้วจึงวิเคราะห์ข้อมูลออกมาว่า ในโรงงานนั้นๆ มีข้อบกพร่องในจุดใด สามารถปรับปรุงได้อย่างไร เพื่อประกอบการพิจารณาว่า สามารถปรับปรุงในส่วนที่บกพร่อง ให้สามารถประหยัดพลังงานดีขึ้นได้หรือไม่ โดยมี 4 ตัวอย่างในการประหยัดพลังงานและช่วยปรับปรุงสภาพแวดล้อมในโรงงานได้ดี ซึ่งใช้เงินลงทุนไม่มากนัก ดังนี้ 

#1 
โรงงานที่มีทั้งระบบทำความเย็น และระบบทำความร้อนภายในโรงงาน ซึ่งสามารถรวม 2 ระบบนี้เข้าด้วยกัน เพื่อให้สามารถทำ Pre-cool และ Pre-heat ให้กับน้ำที่ใช้ โดยวิธีนี้จะมี ROI อยู่ที่ประมาณ 3.5 ปี

#2
ตัวอย่างถัดมา คือ โรงงานที่มีบอยเลอร์ (ฺBoiler) สำหรับซัพพลายน้ำร้อนให้เตาอบขนม แต่ในโรงงานมีอุณหภูมิสูง ทางโรงงานมักได้รับการร้องเรียนเรื่องอุณหภูมิในโรงงานจากพนักงานอยู่บ่อยครั้ง จึงทำการติดตั้ง Heat Pump มาใช้ในการซัพพลายน้ำร้อนให้เตาอบแทนบอยเลอร์ และนำของเสียจาก Heat Pump ซึ่งเป็นลมเย็น มาใช้ในการปรับอุณหภูมิโรงงาน วิธีนี้ทำให้ได้ข้อดีถึง 2 ต่อ

จาก 2 ตัวอย่างข้างต้น จะเห็นได้ว่าเป็นการลงทุนโดยพิจารณาจากอุปกรณ์ที่โรงงานมีอยู่แต่เดิม และทำการปรับปรุง หรือติดตั้งอุปกรณ์เพิ่ม เพื่อให้สามารถทำงานร่วมกันได้ และประหยัดพลังงานมากขึ้น

#3
อีกตัวอย่างหนึ่ง คือการปรับปรุง Chiller ที่ใช้ในการซัพพลายน้ำเย็น ซึ่งได้เปลี่ยนจาก Chiller เดิม ไปใช้ Chiller ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และประหยัดพลังงานมากขึ้น ซึ่งในกรณีตัวอย่างนี้ จะเห็นได้ว่า เป็นการลงทุนเปลี่ยนอุปกรณ์จากเดิม ไปใช้อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าทดแทนโดยตรง อย่างไรก็ตาม เมื่อสามารถทำงานได้ดีกว่า และประหยัดกว่าแล้ว การลงทุนเช่นนี้จึงเป็นแนวทางหนึ่งที่ได้ผลเช่นเดียวกัน

#4
ถัดจากกรณีข้างต้น คุณอาชว์ ได้ยกตัวอย่างของโรงงานให้เห็นชัดว่า ในโรงงานแห่งหนึ่งนั้น หากติดตั้งเครื่องปรับอากาศ โรงงานก็จะมีอุณหภูมิต่ำ เหมาะสมแก่สภาพการทำงาน แต่จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ในขณะที่โรงงานซึ่งไม่ติดเครื่องปรับอากาศ จะมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่า แลกกับการที่อุณหภูมิภายในโรงงานสูง ทำให้สภาพแวดล้อมในการทำงานไม่ดีนัก อย่างไรก็ตามปัญหานี้ ก็สามารถแก้ไขด้วยการหาจุดกึ่งกลางได้ เช่น การติดตั้งพัดลมแทนเครื่องปรับอากาศ และติดตั้งให้เป่าผ่านแต่ตัวบุคคล เพื่อไม่ให้พัดลมเป่าลมร้อนจากเครื่องจักรไปยังพนักงาน หรือเลือกปรับปรุงโรงงานให้ระบายอากาศดีขึ้น

จะเห็นได้ว่า การประหยัดพลังงาน ไม่ได้มีเพียงแค่การลงทุนติดตั้งโซลาร์เซลล์เท่านั้น แต่การลงทุนในส่วนอื่นๆ ที่มีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ ซึ่งแม้ว่า จะสามารถประหยัดพลังงานได้น้อยกว่า ไม่ได้มีสิทธิพิเศษจากการขอรับการส่งเสริมการลงทุน แต่หากค่อยๆ มีการปรับเปลี่ยนไปทีละส่วน ภาพรวมความสุขของผู้ปฏิบัตงาน ไปจนถึงผู้ประกอบการก็จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้น ปรับเปลี่ยนแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่มีแรงกดดันมากนัก ในท้ายที่สุดก็จะนำมาซึ่งการใช้พลังงานที่ลดลง ต้นทุนการผลิตต่ำขึ้น คนทำงานก็แฮปปี้มากขึ้นตามไปด้วย